ข่าวเตือน!!ไข้เลือดออกสายพันธุ์ดุ"เดงกี่"คร่าชีวิต30ราย - kachon.com

เตือน!!ไข้เลือดออกสายพันธุ์ดุ"เดงกี่"คร่าชีวิต30ราย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า มีการคาดการณ์มาตั้งแต่ต้นปี 2562 แล้วไข้เลือดออกจะมีการระบาดหนัก โดยอาจมีผู้ป่วยมากถึงแสนกว่าราย แต่มีสถานการณ์ที่น่ากังวลมากขึ้นเพราะว่าสภาพอากาศเมืองไทยเปลี่ยนแปลง ทำให้ตอนนี้มีผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี มาตั้งแต่เดือนม.ค. , ก.พ. ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน ประมาณ 2.3 หมื่นราย เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 30 ราย และยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรคว่าเสียชีวิตเพราะไข้เลือดออกหรือไม่อีก 13 ราย นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ เขตสุขภาพที่ 9 และเขตฯ 10 อย่างที่จังหวัดอุบลราชธานีก็มีผู้ป่วยเสียชีวิตติดกันหลายราย นอกจากนี้ยังมี ภาคตะวันออก กรุงเทพ และปริมณฑล เป็นต้น
 
“ที่น่าเป็นห่วงคือจากการตรวจสอบพบว่าโรคไข้เลือดออกที่พบในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุดใน 4 สายพันธุ์ ยิ่งหากเป็นการป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 จะยิ่งมีความสัมพันธุ์กับความรุนแรงของโรคมากขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า หากประชาชนมีไข้สูงลอย นาน 2 วันยังไม่ลดให้รีบไปพบแพทย์ และถึงแม้ไข้ลดแล้วก็ต้องดูด้วยว่าสภาพร่างกายผู้ป่วยเป็นอย่างไร ซึมลง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ให้รีบกลับไปพบแพทย์ ไปซ้ำได้
 
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จากข้อมูลผู้เสียชีวิต เดิมเมื่อ 10 ปีที่แล้วอัตราการเสียชีวิตจากเกิดในเด็กเล็ก แต่ช่วง 4-5 ปี หลังมานี้พบว่ามีการเสียชีวิตในเด็กโตและผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเวลาผู้ใหญ่ป่วยมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดาเท่านั้น บางส่วนไม่อยากไปโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าคนแน่น เลยไปที่คลินิก หรือซื้อยาในร้านขายยามากินเอง ซึ่งน่าเสียดายหลายคลินิก หลายร้านเน้นการรักษาอาการไข้ พอเห็นว่ายาพาราเซตามอลลดไข้ได้ไม่เร็วทันใจ เลยเปลี่ยนมาให้ยาในกลุ่มเอ็นเสด บางคนได้เป็นยาฉีดเพราะเห็นว่าได้ผลในการลดไข้เร็ว แต่อันตรายมากเพราะยากลุ่มนี้จะไปกระตุ้นให้มีเลือดออกได้ ดังนั้นจึงขอฝากไปถึงแพทย์ตามคลินิก เภสัชกรร้านขายยา หรือผู้ดูแลร้านขายยาให้มีความเข้มงวดเรื่องนี้ หากมีผู้ป่วยไข้สูงเข้าไปรับการรักษาหรือไปรักษาให้คำนึงถึงโรคไข้เลือดออกและหลีกเลี่ยงการจ่ายยากลุ่มเอ็นเสด ให้ยาพาราฯ แทน หากอาการไม่ดีขึ้นอย่างน้อยผู้ป่วยก็กลับมารักษาตัวต่อ แต่หากให้ยากลุ่มเอ็นเสดเลยอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
 
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนอย่าเพิ่งตระหนก แต่ขอให้มีการตื่นตัว เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนกางมุ้ง ทายาดกันยุง ซึ่งหากเป็นสมุนไพรกันยุงจะมีประสิทธิภาพอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง หากเป็นยาทา กลุ่มดีต (DEET) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอยู่ได้ประมาณ 7 ชั่วโมง ก็เลือกตามที่เหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 เราก็เคยคาดการว่าไข้เลือดออกจะระบาดมากเทียบเท่ากับการระบาดใหญ่เมื่อปี 2558 แต่ด้วยความร่วมมือกัน มีจิตอาสาในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประชาชนให้ความร่วมมือในการดูแลตัวเองทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้นรอบนี้ก็ขอความร่วมมือกับประชาชนด้วย   
 
เมื่อถามว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกตอนนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จำเป็นต้องมีการประกาศเขตพื้นที่ระบาดหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไข้เลือดออกถือว่าเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นกรมควบคุมโรค ไม่จำเป็นต้องออกประกาศพื้นที่การระบาด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถพิจารณาสานการณ์และวางมามาตรการแก้ปัญหา รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรของรัฐมาแก้ไขปัญหาได้  แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องรอประกาศทางท้องถิ่นก็สามารถนำงบประมาณมาใช้ได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คณะอนุกรรมการวิชาการ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อยู่ระหว่างการร่างเกณฑ์การประเมินพื้นที่ระบาดใหม่ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่หากพิจารณาตามหลักวิชาการระบาดของโรคแล้วก็คือพื้นที่ที่ไม่เคยมีผู้ป่วยมาก่อน แต่อยู่ๆ ก็มีขึ้นแม้เพียง 1 ราย พื้นที่ที่พบผู้ป่วยประจำมาก พื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตเป็นต้น
 
จากเอกสารรายงานของกรมควบคุมโรค ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 พบว่า อำเภอที่มีผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย และสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 4 สัปดาห์ คือ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ป่วย 132 ราย อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ป่วย 70 ราย อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ป่วย 94 ราย และ อ.เกาะช้าง จ.ตราด ป่วย 54 ราย สำหรับพื้นที่พบผู้ป่วยทั่วประเทศในระดับสีแดง มีทั้งสิ้น 389 อำเภอ พื้นที่เสี่ยง สีเหลือง 198 อำเภอ.