ข่าวนายกฯสั่งรับมือพายุ'ปาบึก'ถล่มภาคใต้พรุ่งนี้ - kachon.com

นายกฯสั่งรับมือพายุ'ปาบึก'ถล่มภาคใต้พรุ่งนี้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการรับมือพายุปาบึกว่า เราได้เตรียมการตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมาแล้ว มีการแจ้งเตือนไปทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการสัญจรไปมาในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามันด้วย ขอเตือนทุกคนช่วยเตรียมการป้องกันตัวเอง และขอร้องภาคเอกชนในการใช้เรือโดยสาร ซึ่งตนได้สั่งห้ามหมดแล้ว และวันนี้ได้ย้ำเตือนในที่ประชุมครม.อีกครั้ง  ขณะเดียวกัน กระทรวงมหาดไทยจะมีการประชุมเตรียมการบูรณาการอีกครั้ง หลังจากได้สั่งการไปแล้ว ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทัพเรือ กองทัพบก และกรมเจ้าท่า โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานในการขับเคลื่อน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เราคาดว่าพายุจะเข้าภาคใต้ตอนบนไปจนถึงตอนล่าง ในวันที่ 3 -5 ม.ค.นี้ เดิมเป็นพายุดีเปรสชั่น จะขยายตัวเป็นพายุโซนร้อน ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ช่วงนี้จะมีฝนตกชุกจึงต้องเตรียมการไปจนถึงการป้องกันน้ำท่วม แก้ไขการคมนาคม แต่หากปริมาณฝนมาก อาจต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา เรื่องนี้เป็นภัยธรรมชาติ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ขณะที่รัฐบาลนี้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรเทาอุทกภัยและภัยพิบัติ ที่มีการดำเนินการใหม่ๆ ทั้งการบูรณาการข้อมูลต่างๆ บูรณาการการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทำทุกอัน หากสังเกตและติดตามจะเห็นมีความแตกต่างมากพอสมควร แต่ก็คงไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นพื้นทีลุ่มต่ำเสียส่วนใหญ่

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้รายงานต่อนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนักจากพายุปลาบึก คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมสูงสุด 300 มม.  ได้เฝ้าระวังพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค.2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ทั้งนี้การแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีหนังสือแจ้งการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 16 จังหวัดตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีลงไป และได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลสถานการณ์ไปยังพื้นที่แล้ว ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC )ทั้งส่วนกลางและ SWOC ส่วนภูมิภาคติดตามสถานการณ์และรายงานข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง 

นอกจากนี้ยังได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 เป็นผู้แทนประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจชั่วคราวในสภาวะวิกฤติ ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน 2 แห่งคือ อ่างฯแก่งกระจาน และอ่างฯปราณบุรีปัจจุบันมีปริมาณเก็บกักอยู่ระหว่าง 86 และ 90% ได้สั่งการให้พร่องน้ำเพื่อให้มีที่ว่างรองรับปริมาณน้ำแล้ว สำหรับอีก 2 แห่งอยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคือ อ่างฯรัชประภา และอ่างฯบางลาง มีปริมาณน้ำ 83 และ 74 % มีที่ว่างเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำได้

ทั้งนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้มีการประเมินสถานการณ์และวางแผนบริหารจัดการเช่นเดียวกับกรมชลประทาน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 39 แห่ง โดยมีอ่างที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90 % จำนวน 8 แห่ง ให้ดำเนินการพร่องน้ำให้มีช่องว่างที่จะรอรับปริมาณน้ำได้ ส่วนอ่างฯที่เหลืออีก 31 แห่งมีน้ำเฉลี่ย 75-80%ให้พิจารณาพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกักและเหมาะสมกับปริมาณน้ำท่าที่จะไหลลงอ่างฯ สถานการณ์น้ำในลำน้ำสายหลักต่างๆ ได้มีการพร่องน้ำมาก่อนหน้าแล้ว ปัจจุบันปริมาณน้ำในลำน้ำมีประมาณ 30% ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2-3 เมตร.