'บิ๊กตู่'นั่งนายกฯรอบ2 กับคำถามรบ.จะอยู่นานแค่ไหน?
การเมือง
สำหรับบรรยากาศการเคลื่อนไหวเพื่อลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ ( 5 มิ.ย.) ที่หอประชุมใหญ่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อตกลงของทุกพรรคการเมืองที่ลงมติเลือกนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และอดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวก่อนการประชุมรัฐสภาถึงจุดยืนของพรรคในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีว่า “ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คำไหนคำนั้น” จากนั้นนายมิ่งขวัญได้หันไปนับจำนวนสมาชิกส.ส. ให้กับผู้สื่อข่าวได้เห็น
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญวันนี้คือการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นผู้นำประเทศ การตัดสินใจวันนี้จึงอยากให้สภาดำเนินการด้วยความเรียบร้อย และอยากเห็นความคิด วิสัยทัศน์ของผู้นำและเหตุผลต่างๆ เพื่อที่จะเลือกผู้นำที่นำพาประเทศไปข้างหน้าได้ ในสภาวะที่มีความรู้สึกที่ประเทศเรามีวิกฤตการต่างๆ จึงเชื่อว่าวันนี้ประธานสภา และผู้รับผิดชอบทั้งหลายจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูดอย่างยุติธรรม เพื่อจะทำให้สังคมได้เห็นผู้นำของเราว่ามีความคิดอย่างไร มีความสง่างามขนาดไหน และมีความพร้อมในทุกเรื่องอย่างไร ส่วนการเสนอชื่อการเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอยาคตใหม่ เป็นนายกฯ เป็นการปลดล็อกเงื่อนไขพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เข้าร่วมกับเพื่อไทยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยปากกับใจตรงกัน และพูดมาตั้งแต่ต้น เราจะไม่เป็นเงื่อนไขอะไร เพราะอยากจะให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน และสิ่งสำคัญที่เรามองคือ ปัญหาของประเทศ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะออกจากวิกฤตของปัญหาที่เป็นกันอยู่
ก่อนประชุมสภาจะเริ่มขึ้น 7 พรรคร่วมได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการประสานงานวิป 7 พรรคโดยวิปประสานงาน 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย ในฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรค นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. สำหรับพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) คือ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค พรรคเพื่อชาติ (พช.) คือ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค พรรคประชาชาติ (ปช.) คือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค พรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศก.) คือ นายนิยม วิรวรธนดิฐ รองหัวหน้าพรรค พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย โดยเนื้อหาในการประชุมหารือนั้น เป็นประเด็นเกี่ยวกับการอภิปรายก่อนการโหวตนายกฯ และการเสนอชื่อผู้ที่ 7 พรรคร่วมจะเสนอชิงนายกฯ
ทั้งนี้ระหว่างการประชุมหารือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินเข้าห้องประชุมวิป 7 พรรคร่วมเพื่อขอบคุณทั้ง 7 พรรคที่มีมติส่งชื่อตัวเองชิงตำแหน่งนายกฯ โดยนายธนาธร กล่าวว่า ตนมาขอบคุณทุกคน ที่สนับสนุนตน วันนี้เป็นการต่อสู้กับระบอบคสช. ตนขอขอบคุณทุกท่านมากๆ
โดยก่อนที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกันนั้นเอง ทางด้านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาทวิตข้อความบนบานศาลกล่าว ให้คนที่ตัดเองชื่นชมอาทิ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกและขอให้คนที่ตนเองไม่ได้เลือก ไม่ได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีกันอย่างล้นหลาม โดยการสุ่มแจกของรางวัลไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอางค์ เครื่องรางความรัก เครื่องประดับ แฟลชไดรฟ์ กล้อง ไปจนถึงเงินสด พร้อมติดแฮชแท็ก #ตู่พบธร #ตั้งรัฐบาล และ #เลือกนายก อีกด้วย
กระทั่งเมื่อเวลา 09.00 น.ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จากนั้น ประธานสภาฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อสมาชิกทุกคนที่ได้รับเลือกตั้งมา จากนั้นนายชวน ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงการยื่นญัตติของส.ส. เพื่อให้ที่ประชุมสภาฯ ตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าญัตติดังกล่าวได้ยื่น และมีส.ส.ลงลายมือชื่อรับรองอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบอำนาจตามญัตติดังกล่าวเลขาธิการสภาฯ ระบุว่าไม่อยู่ในอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะดำเนินการได้ ซึ่งตนให้ความเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาฯ เสนอ
ทั้งนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะผู้เสนอญัตติดังกล่าว อภิปรายต่อที่ประชุมโดยยืนยันสิทธิของสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องตรวจสอบบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ ทางด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายด้วยว่าบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอให้เป็นนายกฯนั้น ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติ จากกกต.รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้น สภาฯ ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติ ดังกล่าว ทั้งนี้ หลังจากให้ส.ส.อภิปรายตามประเด็นดังกล่าวครบแล้ว นายชวน ได้กล่าวปิดประชุมสภาฯ เมื่อเวลา 10.00 น. และจะเริ่มการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ในเวลา 11.00 น
กระทั่งเวลา 11.00 น.ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อาคาร 9 ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภา โดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทันทีที่ทั้งสองฝ่ายเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฎว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงประธานในที่ประชุม อาทิ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เนื่องจากเห็นว่าประธานอาจทำผิดข้อบังคับที่ระบุว่า เมื่อมีการเสนอชื่อแล้วจะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของที่ประชุม จึงกังวลว่าการยกมือรับรองอาจมีการยกมือรับรองซ้ำกัน ขอให้ประธานนับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ เพื่อป้องกันการรับรองชื่อซ้ำกัน ทำให้นายชวน ประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงว่า การขานชื่อจะใช้เวลานาน เพราะไม่มีเครื่องมือในการนับคะแนน พร้อมยืนยันว่า ตนนั่งอยู่บนบัลลังก์เห็นชัดเจนว่ามีผู้รับรองถูกต้องตามจำนวนที่ข้อบังคับกำหนด
ต่อมา นายจิรวัฒน์ อรัณกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อสมควรเป็นนายกรัฐมตรีทั้ง 2 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยมีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นคัดค้านญัตติดังกล่าวทันที ก่อนที่ น.ส.ภาดาห์ วรกานนนท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติสวน โดยขอให้ดำเนินการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามระเบียบวาระ เพราะที่ผ่านมาไม่มีเคยมีการแสดงวิสัยทัศน์มาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญ และระเบียบข้อบังคับก็ไม่ได้กำหนดเอาไว้ ทำให้นายชวน ต้องขอมติต่อที่ประชุมเพื่อหาทางออก แต่เนื่องจากต้องใช้วิธีการขานชื่อรายคน จึงอาจกระทบเวลาการประชุม เพราะไม่มีเครื่องนับคะแนน ทำให้ นายจิรวัฒน์ ผู้เสนอญัตติได้ขอถอนญัตติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อไม่ให้กระทบเวลาการประชุมตามที่นายชวน ในฐานะประธานการประชุมได้หารือ
จากนั้น นายชวน ประธานในที่ประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา อภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีส.ส.พรรคเพื่อไทย และส.ส.จากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
เวลา 13.00 น. นายธนาธร ได้แถลงแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้าสื่อมวลชนระบุว่า ถ้าท่านอยากเห็นประเทศไทยไม่ต้องยึดหลักการและความชอบธรรมใด ก็คงไม่จำเป็นที่จะฟังคำที่ผมจะพูด แต่ถ้าอยากเห็นสังคมไทยมีขื่อมีแป เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ท่านกับผมก็คิดเหมือนกัน ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรีจะนำประเทศไทยไปในทางไหน ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความจริง ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะพาประเทศไทยไปข้างหน้า ผมจะเป็นนายกแห่งความจริง ที่เห็นปัญหาที่รากฐานหรือเฉพาะตัว ผมมีโอกาสได้พบพี่น้องประชาชนที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความลำบากยากจน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนห่างไปเรื่อยๆ เพื่อจะแก้ปัญหาที่ตรงจุดต้องยอมรับปัญหาที่เกิด เราจะแก้ไขปัญหาทุนผูกขาดที่เอาเปรียบประชาชนได้อย่างไร หากไม่แก้ไขปัญหาระบบทุนอุปถัมภ์ เราจะใช้งบประมาณของประเทศได้อย่างไร ถ้าอำนาจอยู่ที่บุคคลส่วนกลาง แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยมองเห็นความลำบากที่แท้จริง
ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งความเปลี่ยนแปลง" การมองปัญหาจากความจริงเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องกล้าเผชิญหน้า คิดอย่างเป็นระบบและทำงานป็นทีม ซึ่งสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว การบริโภคในประเทศอ่อนลงทุกที หนี้สินในประเทศเพิ่มสูงขึ้น คุณภาพการศึกษาเสื่อมลง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่น้ำเดือดอยู่ แต่น้ำเดือดขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยผู้นำเพียงคนเดียว หลายปัญหาเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับผู้นำประเทศ ทางออกที่ชัดเจนจำเป็นที่จะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มทุนกลุ่มใหญ่ เราต้องกล้าชนกับโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ภายหลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการอภิปรายเสร็จสิ้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้สมาชิกลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการอภิปรายคุณสมบัติบุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ไม่มีส.ส.ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยร่วมอภิปรายแม้แต่คนเดียว ซึ่งรวมการอภิปรายตลอดทั้งวัน 10 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้น เริ่มเข้าสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแบบเปิดเผย ด้วยการขานชื่อเรียงตามตัวอักษร โดยให้สมาชิกเอ่ยชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมีการตั้งคณะกรรมการนับคะแนนจำนวน 6 คน ซึ่งบุคคลที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้คะแนนโหวตไม่น้อยกว่า 375 เสียง จากเสียงทั้งหมด 748 คน แม้จนถึงขณะนี้การนับคะแนนยังไม่เสร็จสิ้น (23.20 น.) แต่คะแนนเสียงที่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเกินกึ่งหนึ่งแล้ว
หลังจากที่ทางรัฐสภาได้มีการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้น ซึ่งมีผู้ร่วมลงคะแนน ประกอบด้วย ส.ว. จำนวน 500 คน และ ส.ส. 247 คน โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯนั้น จะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 374 คะแนน โดยผลอย่างเป็นทางการปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น 500 คะแนน ส่วน นายธนาธร ได้ 244 คะแนน โดยมีผู้งดออกเสียงทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย
ภายหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เสร็จสิ้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวขอโทษที่ทำภารกิจไม่สำเร็จ ไม่สามารถหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ชัยชนะของเราถูกปล้นไป พวกเราพรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจทั้ง 7 พรรค ได้สู้จนถึงที่สุด สู้จนถึงนาทีสุดท้าย พวกเราทำตามที่หาเสียงไว้ ไม่ได้ยอมแพ้ระหว่าง ต่อสู้ภายใต้กฎกติกาที่ระบอบรัฐประหารได้วางไว้ วันนี้ประชาชนได้เป็นสักขีพยานของการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยเพื่อความเป็นธรรมที่แหลมคมในรอบนี้ ถ้าเราเดินหน้าทำงานอย่างแข็งขันพวกเขาจะเห็นและพวกเขาจะตัดสินใจเลือกครั้งต่อไปเอง จากนี้จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านทำงานให้ประชาชนต่อไป
ดังนั้นคำถามหลังจากนี้นั่นก็คือ อำนาจของ "คสช."ภายหลังการเลือกตั้งเดือนมี.ค.จะแข็งแกร่งเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐบาล"บิ๊กตู่"จะอยู่ได้นานแค่ไหนภายใต้เสียงปริ่มน้ำ นี่คือคำถามและรอคำตอบในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ธนาธร'โผล่ขอบคุณ7พรรค ร่วมส่งชื่อชิงเก้าอี้'นายกฯ'...
ผิดหวังหนุนลุงตู่! แฮชแทกร้อน'ประชาธิปัตย์ทรยศปชช.'...
เก้าอี้นายกฯจะเป็นของใคร? คนไทยลุ้น!'บิ๊กตู่'VS'ธนาธร'...
ชาวเน็ตแห่บนบาน หาก'ลุงตู่ไม่ได้ไปต่อ'ขอเปย์หมดตัว...
'ธนาธร'ขอพูดนอกสภา พร้อมเป็นนายกฯแห่งความจริง...
ปชป.-ภท.ไร้ท่าทีขึ้นอภิปรายแคนดิเดตนายกฯ...
'ธนาธร'ลั่น!ชัยชนะถูกปล้น จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อปชช....
เปิดผลโหวตนายกฯ2สภา 'บิ๊กตู่'ชนะ'ธนาธร'500:244...
นอนมา!สภาโหวต'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกฯต่ออีกสมัย...