ข่าว7วันอันตราย ตาย463ราย เจ็บ3,892คน โคราชตายพุ่ง 25ราย - kachon.com

7วันอันตราย ตาย463ราย เจ็บ3,892คน โคราชตายพุ่ง 25ราย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย  นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แถลงปิดการดำเนินงานของ ศปถ.และสรุปภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค. 62 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 369 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 391 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.35 และขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 29.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.53 รถปิคอัพ  ร้อยละ 5.70 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 68.56 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.46 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.64 ทั้งนี้ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,052 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,644 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 890,673 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 182,023 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 46,248 ราย ไม่มีใบขับขี่ 41,473 ราย  สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จำนวน17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ จำนวน 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จำนวน 18 คน
 
 
รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.61 – 2 ม.ค. 62 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,892 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ มี 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก แพร่ สตูล และสมุทรสงคราม จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช จำนวน118 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา จำนวน 25 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช จำนวน 137 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.39 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.30 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.64 รถปิคอัพ 6.95 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.89 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.30 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.90 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 27.78

นายสุธี กล่าวต่อว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 79.64 ซึ่งศปถ.ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการนายอำเภอบรรจุเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและสงบเรียบร้อยอำเภอ พร้อมกำชับให้จังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ทั้งนี้ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางด้วยความทุ่มเท และเสียสละ
 


“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงแบะรมว.กลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยเน้นย้ำให้ดำเนินการทุกเรื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาล และคสช. ตั้งใจแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ทั้งนี้ในนามของรัฐบาล และศปถ. ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่สูญเสีย รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ แต่รัฐบาลพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้ได้ทันท่วงที ซึ่งรัฐบาลได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยมีการดำเนินการตาม 6 มาตรการหลัก และ 1 มาตรการเสริม ดูแลเรื่องคน ถนน ยานพาหนะ สิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุ และการท่องเที่ยว ณ วันนี้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็น ร้อยละ 2 และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บก็ลดลงร้อยละ 3 แต่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตปีนี้มีมากขึ้น ดังนั้นต้องดูว่าจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกำหนด และการตัดหน้าแบบกระชั้นชิด โดยทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดจากคน ซึ่งต้องสร้างจิตสำนึกให้มากขึ้น โดยจะให้คณะอนุกรรมการของศกถ. ไปดูรายละเอียด เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป อาจจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น
 

“ทั้งนี้อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80 ถือว่าสูงมาก ซึ่งอาจจะตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อดูมาตรการเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ควบคุมให้เกิดความเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งหมดเกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงาน  ขณะที่ กทม. เองตลอด 7 วันที่ผ่านมา มีรถเข้า-ออก 8,900,000 คัน พบการกระทำความผิดถึง 6 ล้านคัน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี 9,453 คดี ซึ่งเกิดจากการดื่มแล้วขับกว่า 9,000 คดี อย่างไรก็ตามยืนยันว่า จะมีการถอดบทเรียนของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในเดือนเม.ย. ก็จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ “ รมช.มหาดไทย กล่าว
 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. 60 – 3 ม.ค. 61 เกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 คน ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์ มี 7 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี จำนวน 139 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา จำนวน 17 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี จำนวน 145 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 43.66 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.23ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.91 รถปิคอัพ 6.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.21 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 28.22


 
ด้านนายชยพล  ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศปถ. กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 แล้ว ศปถ. โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำสถิติอุบัติเหตุทางถนนมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และถอดบทเรียนการดำเนินงาน พร้อมนำความสำเร็จของจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมาเป็นต้นแบบในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน รวมถึงมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน สภาพรถและเส้นทาง เพื่อนำปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานมาปรับปรุงพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน นอกจากนี้ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกช่องทางสื่อ เพื่อขับเคลื่อนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด และสร้างให้ถนนทุกสายเป็นเส้นทางแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน.