ข่าวกรมชลฯพร้อมรับมือ 'ปาบึก'ขึ้นฝั่งนครฯค่ำพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) - kachon.com

กรมชลฯพร้อมรับมือ 'ปาบึก'ขึ้นฝั่งนครฯค่ำพรุ่งนี้ (4 ม.ค.)
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ประกาศฉบับล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ทิศทางเคลื่อนตัวของพายุจะปรับลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเล็กน้อย จากที่ประเมินว่า จะขึ้นฝั่งอ่าวไทยบริเวณรอยต่อจ.ชุมพรและจ.สุราษฎร์ธานี ขณะนี้คาดการณ์ว่า จะขึ้นฝั่งที่ จ.นครศรีธรรมราชในตอนค่ำวันที่ 4 ม.ค.นี้  ซึ่งกรมชลประทานพร้อมรับสถานการณ์อย่างเต็มที่ เนื่องจากได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว แม้ว่าทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุจะขยับไปขึ้นฝั่งที่จังหวัดใดก็ตาม   สำหรับที่ จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินโคลนถล่ม  95 แห่ง โดยพื้นที่เฝ้าระวังในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 6 จุดใน อ.เชียรใหญ่  อ.ชะอวด ลุ่มน้ำปากพนังตอนล่าง  อ.ร่อนพิบูลย์ อ.หัวไทร อ.เฉลิมพระเกียรติ และอ.เมือง


อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า  ส่วนพื้นที่เตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบมี  51 แห่ง ใน 188 หมู่บ้านได้แก่ ในอ.ลานสกา 4 แห่ง  อ.ฉวาง 5 แห่ง อ.ท่าศาลา 2 แห่ง อ.พิปูน 7 แห่ง อ.พรหมคีรี 2 แห่ง อ.สิชล 2 แห่ง อ.ร่อนพิบูลย์ 3 แห่ง  อ.บางขัน 4 แห่ง อ.นบพิตำ 3 แห่ง อ.จุฬาภรณ์ 1 แห่ง อ.ทุ่งสง 5 แห่ง อ.ขนอม 2 แห่ง อ.ช้างกลาง 2 แห่ง และ.เมือง 1 แห่ง 
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า  สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 29 แห่ง โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากได้แก่ อำเภอชะอวด 10 แห่ง บางขัน 2 แห่ง หัวไทร 4 แห่ง เชียรใหญ่ 1 แห่ง จุฬาภรณ์  2 แห่ง ช้างกลาง 1 แห่ง ทุ่งสง 3 แห่ง และร่อนพิบูลย์ 2 แห่ง อีกทั้งมีพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม 6 แห่งในอ.ร่อนพิบูลย์  อ.ทุ่งสง อ.ช้างกลาง อ.ลานสกา อ.นบพิตำ และอ.สิชล

นายทองเปลว กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทั้งส่วนกลางและสำนักชลประทานที่ 14 15 16 และ17 ติดตามสถานการณ์น้ำ ทิศทางและความรุนแรงของพายุ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคใต้และรายงานตลอด 24 ชั่วโมง  รวมถึงได้เร่งพร่องน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่างๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับสถานการณ์  หากอ่างเก็บน้ำใดมีแนวโน้มจะล้น ให้เร่งพร่องน้ำออก โดยมีอ่างขนาดใหญ่ 1 แห่ง ได้แก่อ่างฯปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ่างขนาดกลางอีก 15 แห่งในจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรีและสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ให้พร่องน้ำด้านท้ายของลำน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากฝนที่ตกลงมาได้สะดวก.