ข่าว'มท.1'จี้ท้องถิ่นจัดแยกขยะก่อนทิ้งก่อน1 ก.พ.นี้ - kachon.com

'มท.1'จี้ท้องถิ่นจัดแยกขยะก่อนทิ้งก่อน1 ก.พ.นี้
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.เวลา 13.30 น.ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  เป็นประธานการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติ “แยกก่อนทิ้ง” โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ท้องถิ่นต้องดำเนินการจัดการคัดแยกขยะให้ได้เป็นรูปธรรมก่อนวันที่ 1 ก.พ.นี้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในบทบาทของการจัดการขยะ โดยสอนให้ประชาชนได้รับทราบถึงแนวทาง 3 ช. คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หากเราไม่มีมาตรการในการจัดการกับขยะก็จะเกิดปัญหาขยะสะสม และสิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชน ทุกอย่างสามารถเริ่มได้โดยการนำบางอย่างกลับมาใช้ใหม่  ส่วนที่ใช้น้อย แต่ก็ไม่อยากให้ใช้เลย เช่น โฟม และถุงพลาสติก เพราะใช้เงินในการกำจัดแพงกว่าเงินที่ซื้อ หากเรากำจัดไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดผลกระทบตามมาด้วย ทางที่ดีควรรณรงค์ไม่ให้มีการใช้โฟม และถุงพลาสติก หากอะไรที่นำมากลับมาใช้ซ้ำได้ก็ควรรณรงค์ด้วยเช่นกัน

รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า ในส่วนของ  อปท.ก็ควรร่วมมือกันสร้างความเข้าใจกับประชาชน และรวมกลุ่มหาคนรับซื้อขยะเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและท้องถิ่น รวมถึงต้องไปสร้างความเข้าใจสร้างความตระหนักรู้ และความร่วมมือกับประชาชน อีกทั้งการทิ้งขยะต้องทิ้งในที่ปิด เพราะประเทศไทยมีปัญหาขยะ โดยเฉพาะในทะเล ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติในทะเล และสัตว์ทะเล รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ทำความสะอาดได้ยากและต้องใช้เงินมากมายในการดำเนินการ หากเราใช้มาตรการ 3 ช. ก็เชื่อว่า ขยะที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะไม่มี และบ้านเมืองก็จะสะอาดมากขึ้น เราก็จะใช้เงินในการเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการขยะน้อยลง นอกจากนี้ต้องรณรงค์การคัดแยกขยะ เพราะหากไม่มีการคัดแยก ก็จะทำให้การกำจัดขยะยากขึ้นไปอีกและใช้เงินมากขึ้นตามมาด้วย โดยเฉพาะขยะอันตรายและโลหะหนัก หากแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ก็จะทำให้ดินและน้ำมีสารปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อประชาชนและลูกหลานในอนาคต

รมว.มหาดไทย กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาเรามีถังขยะ 4 ประเภท และมีการแบ่งแยกสีให้เรียบร้อย โดยวางในพื้นที่ชุมชน เพื่อหวังเป็นต้นทางในการคัดแยกขยะ  ซึ่งประชาชนควรจะคัดแยกขยะจากที่บ้านก่อนนำไปทิ้งในถังขยะให้ถูกต้อง ตรงนี้ก็จะช่วยใช้งบประมาณในการกำจัดขยะลดน้อยลง ภาษีที่เหลือจะได้ไปพัฒนาด้านอื่น เช่น โรงเรียน และโรงพยาบาล  ที่ผ่านมาเรายังทำกันไม่ถูกต้องและมีการใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปีในการกำจัดขยะ ซึ่งงบฯตรงนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ นอกจากนี้ตนยังมีแนวความคิดให้อปท.ทำสติกเกอร์แจกประชาชนทุกบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ติดตามถุงขยะที่คัดแยก เพื่อให้ง่ายในการดำเนินการขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ รวมทั้งอยากให้ท้องถิ่นเข้าไปเก็บขยะถึงหน้าบ้านของประชาชนด้วย โดยกำหนดวันเก็บขยะให้ชัดเจน.