'นายกฯ'สั่งทบทวนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ตามแผนปฏิรูป
การเมือง
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.เวลา 13.20 น.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติรับทราบทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยงานตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เราได้ให้ข้อเสนอในที่ประชุมครม.ว่าการตั้งหน่วยงาน 52 หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานองค์การมหาชนและส่วนราชการ รวมถึงกรมใหม่ เป็นจำนวนที่เยอะ และยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ในรายละเอียดว่าเหมาะสมและจำเป็นจะต้องตั้งมากมายขนาดนั้นหรือไม่ หรือที่มีอยู่เพียงพอแล้ว หรือควรจะยกเลิกโดยเราได้ไปดูแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งให้ภาคราชการมีขนาดเล็กลง ทำงานแบบคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใหญ่ เพราะการตั้งหน่วยงานจำนวนมากขนาดนี้มีตรรกะขัดกันกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และก.พ.ร.เห็นว่ามีภาระกับงบประมาณของรัฐมาก และไม่มีใครรับประกันว่า การตั้ง 52 หน่วยงานแล้วประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรือง หากจะตั้งหน่วยงานใหม่ ต้องยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม (One – In, X – Out) เพื่อไม่ให้การทำงานซ้ำซ้อน
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมครม. นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับข้อเสนอและสั่งการให้มีการทบทวน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รับกลับไปพิจารณาทบทวนแก้ไข เนื่องจากขณะนี้กฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ส่วนใหญ่ จะมีการตั้งหน่วยงาน กรมและองค์การต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับแก้แล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำเข้าครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยคาดหวังว่าจะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่า ก.พ.ร.ไม่ได้ขัดแย้งหรือทะเลาะกับใคร เราเพียงเสนอตามหลักการว่าควรจะเป็นอย่างนี้.