ข่าว'วิษณุ'โยนกกต.เคาะวันเลือกตั้ง ย้ำต้องมีก่อนพระราชพิธี - kachon.com

'วิษณุ'โยนกกต.เคาะวันเลือกตั้ง ย้ำต้องมีก่อนพระราชพิธี
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.เวลา14.00น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บริเวณชั้น 9 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาหารือกับกกต. ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

จากนั้นนายวิษณุ แถลงภายหลังการหารือว่า ได้นำรายละเอียดขั้นตอนพระราชพิธีมาแจ้งต่อ กกต.เพราะจากเดิมที่ทราบว่าจะมีพระราชพิธีระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.นั้น แต่ในรายละเอียดก่อนหน้านั้นประมาณ 15 วันจะมีพิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการ รวมถึงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วก็จะยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกประมาณ 15 วันเช่นกัน หากยึดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ.62  กกต. ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน คือไม่เกินวันที่ 24 เม.ย.นี้ จากนั้นภายใน 15 วันจะต้องเสด็จเปิดการประชุมสภานัดแรก ซึ่งก็จะตรงกันวันที่ 8 พ.ค.นี้ เมื่อ กกต.ทราบขั้นตอนต่างๆ แล้วก็จะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม โดยในจุดนี้รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะมีอำนาจเพียงนำพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ให้มีการเลือกตั้งส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเดิมคาดว่าจะประกาศในวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พ.ร.ฎ.ดังกล่าวกลับลงมา ขณะนี้จึงถือว่าอยู่ในพระราชอำนาจ ซึ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค.61 แต่เมื่อมีพ.ร.ฎ.ลงมาแล้ว กกต.ต้องประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน จากนั้นจะประกาศวันรับสมัคร สถานที่รับสมัครและรายละเอียดอื่นๆ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การที่พ.ร.ฎ.ยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ ทำให้กกต.ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อดีเพราะจะทำให้ กกต.มีเวลาเตรียมการได้มากขึ้น ลำพังวันเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ไม่ได้มีผลต่อพระราชพิธีฯ และถึงอย่างไรการเลือกตั้งต้องมีก่อนพระราชพิธีฯแน่ เพราะอยู่ในช่วง 150 วัน คือช่วงระหว่างวันที่ 11 ธ.ค. 61 – 9 พ.ค.62 โดยนับจากวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 11ธ.ค.61 ซึ่งข้อห่วงใหญ่ว่าอาจจะมีความโกลาหลทับซ้อนให้เลื่อนการเลือกตั้งให้ผลต่อพระราชพิธีฯนั้นทำไม่ได้ เพราะวันอาทิตย์สุดท้ายคือวันที่ 5 พ.ค.นี้ ซึ่งจัดการเลือกตั้งไม่ได้เพราะจะมีการจัดพระราชพิธีฯ จะเลื่อนออกไปไม่ได้ เพราะจะเกินกรอบ 150 วัน ซึ่งเขียนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ไขได้ ถ้าจะใช้กำหนดวันเลือกตั้งเดิมคือ 24 ก.พ.นี้ ก็ไม่กระทบกับพระราชพิธีฯ เรื่องการหาเสียงก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นคือระยะเวลาหลังการเลือกตั้งที่ยังมีกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งกกต.ต้องประกาศผลในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการทำน้ำอภิเษก กิจกรรมการเมืองกับกิจกรรมพระราชพิธีฯ จึงต้องไม่ทับซ้อนกัน


"การประกาศผลรับรองผล เลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสมควรจะเกิดขึ้นหลังพระราชพิธีฯ คือวันที่ 20 พ.ค.62 ทั้งนี้หาก กกต.จะยืนยันจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.ก็ทำได้ แต่ระยะเวลาในการหาเสียง ก็จะน้อยลง" นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ตามเงื่อนไขที่กล่าวมาเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.หรือ 17 มี.ค.นี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับกกต. สื่อฟังแถลงไม่นานก็สามารถจับประเด็นได้ เมื่อตนได้บอกรายละเอียดกับทางกกต.ไป เชื่อว่า กกต.คงมีคำตอบในใจว่าจะไปหารือกัน เพราะก่อนหน้านี้กกต.หารือกันแล้วว่าจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.นี้ เมื่อกกต.เห็นกรอบกระราชพิธีฯ 3 วันก็ยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 แต่พอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม กกต.จึงรับไปหารือเพิ่มเติม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แนะนำวันที่เหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง เบื้องตนที่เรายึดวันที่ 24 ก.พ.62 เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายพร้อมและจะเป็นวันที่เร็วที่สุด ส่วนจะเลื่อนวันที่เท่าไหร่ จะเลื่อนหรือไม่เลื่อนขึ้นอยู่กับกกต.

เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าวันที่ 24ก.พ.นี้ ไม่เหมาะสมที่จะจัดวันเลือกตั้งแล้วนั้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวอีกว่า “ไม่กล้าบอกกกต.อย่างนั้น เป็นสิ่งที่กกต.จะต้องไปพิจารณากันเอาเอง แต่อย่างไรการเลือกตั้งจะต้องมีก่อนพระราชพิธีฯ”.