เหล่าทัพประสานเสียงพร้อมรับมือ'ปาบึก'
การเมือง
ด้านกองทัพเรือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ (ศบภ.ทร.) สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาค 1 (ศบภ.ทรภ.1) แจ้งให้หน่วยต่างๆ ในพื้นที่เตรียมความพร้อมด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ให้การสนับสนุนตามที่ได้รับการร้องขอหรือสั่งการ และดำเนินการตรวจความพร้อมหน่วยบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ (นบภ.ทร.) ในพื้นที่ทัพเรือภาค 1 พร้อมทั้งขอให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาค 2 (ศบภ.ทรภ.2) ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งอำนวยการปฏิบัติ และแจ้งหน่วยต่าง ๆ ในพื้นที่ในการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ พร้อมทั้งสั่งการให้หมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาค 2 (มวก.ทรภ.2) เตรียมความพร้อมในการบรรเทาสาธารณภัย โดยให้สามารถปฏิบัติงานในทะเลติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการประมงให้นำเรือประมงกลับเข้าฝั่งและให้ติดตามข่าวอากาศอย่างใกล้ชิด และแจ้งหน่วยงานในศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 2 (ศรชล.เขต2) เตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล อีกทั้งขอให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาค 3 (ศบภ.ทรภ.3) สั่งการให้เตรียมความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ พร้อมสนับสนุนส่วนราชการในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยทันที หรือหากได้รับการร้องขอ โดยเฉพาะการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย ส่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้/หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ สั่งการให้เตรียมความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ พร้อมสนับสนุนส่วนราชการในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยทันที หรือหากได้รับการร้องขอ และจัดเตรียมถุงยังชีพกองทัพเรือให้กับหน่วยต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
ส่วนที่ห้องประชุมศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ถาวรวัฒน์ จันทนาคม ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผช.ผบ.ทอ.) ในฐานะรองผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ เป็นประธานประชุมหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมการให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ของไทยในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.นี้ โดยเป็นการประชุมทางไกลด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับ ผู้บังคับการกองบิน 2 จ.ลพบุรี กองบิน 5 จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองบิน 6 ดอนเมือง กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี กองบิน 56 จ.สงขลา กองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 9 จ.ปัตตานี และศูนย์ยุทธการทางอากาศ สำหรับขณะนี้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศ ได้เตรียมความพร้อมอากาศยาน ยานพาหนะ และพัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยชีวิตแบบ EC-725 จำนวน 2 เครื่อง และ เฮลิคอปเตอร์แบบที่ ๖ ง (Bell-412) จำนวน 1 เครื่อง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ค้นหาและช่วยชีวิต พร้อมปฏิบัติภายใน 30 นาที เครื่องบิน C-130 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับลำเลียงความช่วยเหลือต่างๆ จากส่วนกลาง พร้อมปฏิบัติภายใน 2 ชั่วโมง พัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เรือท้องแบน เรือเร็วไฟเบอร์กลาส เครื่องยนต์เรือหางยาว เครื่องสูบน้ำ เครื่องยนต์ทำไฟ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เครื่องกรอกทรายและสายพานลำเลียง รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม รถยูนิม็อก รถอโศก และรถครัวสนาม เป็นต้น
พล.อ.อ.ถาวรวัฒน์ กล่าวว่า ผบ.ทอ.มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจึงได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพอากาศเตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ โดยในขณะนี้ได้ให้ทุกกองบินในพื้นที่ภาคใต้เตรียมความพร้อมทั้งป้องกันหน่วยที่ตั้งให้มีความปลอดภัย และการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยประสานการปฏิบัติและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่ซ้ำซ้อน.