ข่าว เตือนพี่น้องภาคใต้ !ระวังโรคฉี่หนู-สัตว์มีพิษ - kachon.com

เตือนพี่น้องภาคใต้ !ระวังโรคฉี่หนู-สัตว์มีพิษ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เหตุการณ์ลมพายุและฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ประชาชนที่อาศัยในศูนย์อพยพต่างๆ เตรียมกลับเข้าบ้านเช่นเดิม แต่ขอให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าดูด สิ่งแรกที่ต้องระมัดระวังคือระบบไฟฟ้า ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัย สำรวจระบบไฟฟ้ารอบบ้านด้วยความระมัดระวัง ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ควรให้ช่างผู้ชำนาญตรวจสอบก่อน ทั้งนี้หากพบผู้ถูกไฟฟ้าดูดอย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ถูกไฟฟ้าดูดจนไปด้วย ซึ่งในการช่วยเหลือควรใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า โดยผลักหรือฉุดตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็วหรือตัดกระแสไฟฟ้า จากนั้นปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันที โทร.1669

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ต้องระวังก่อนเข้าบ้านคือสัตว์มีพิษ เพราะในช่วงฝนตกอาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามมุมมืดต่างๆ ของบ้าน โดยก่อนเข้าสำรวจบ้านควรแต่งกายให้มิดชิด เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ จากนั้นเริ่มสำรวจจุดต่างๆของบ้าน หากพบควรตั้งสติให้ดีอย่าตกใจเกินเหตุ ให้เรียกคนมาช่วย ส่วนโรคสำคัญที่ต้องระมัดระวัง และอาจพบได้ง่ายในพื้นที่ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนูซึ่งเชื้อโรคอาจอยู่บริเวณบ้านที่ชื้นแฉะต่างๆ อีกทั้งในช่วงกลับเข้าบ้านจะพบขยะมูลฝอยในพื้นที่จำนวนมาก มักเป็นแหล่งอาศัยของหนู ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญของโรคดังกล่าว จึงขอให้ช่วยกันแยกขยะเปียกและขยะแห้ง ถุงเศษอาหารควรใส่ภาชนะที่มีฝาปิดเพื่อป้องกันสัตว์กัดแทะ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง ส่วนโรคอุจจาระร่วงสามารถป้องกันได้โดยหมั่นล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนปรุงประกอบอาหารและหลังการใช้ห้องน้ำ

'ได้สั่งการให้กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพ ภายหลังจากเหตุการณ์พายุและฝนตกหนักในหลายจังหวัดทางภาคใต้ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.'