กรมชลเร่งระบายน้ำหลังพายุปาบึกเคลื่อนลงอันดามัน
การเมือง
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบัน (6 ม.ค. 62) ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ระดับน้ำที่ท่วมขังในตัวเมือง เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในถนนซอยประมาณ 20-30 เซนติเมตร บริเวณถนนพัฒนาคูขวางระดับน้ำลดลงเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ส่วนระดับน้ำในคลองนครน้อยหน้าเมือง มีระดับต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 8 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน สำหรับพื้นที่รอบนอกและพื้นที่ลุ่มต่ำ ยังคงเร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำ เพื่อระบายน้ำลงสู่ลำคลองสายหลัก ระดับน้ำยังคงต่ำกว่าตลิ่งทั้งหมด คาดว่าสถานการณ์ในเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในเย็นวันนี้ ส่วนในพื้นที่ลุ่มต่ำจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอรอบนอกของ จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันที่อำเภอปากพนัง เนื่องจากอยู่ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำยกตัวสูงขึ้นตามระดับน้ำทะเล ทำให้สามารถเปิดบานระบายน้ำได้ในช่วงเวลาน้ำลงเท่านั้น ทำได้เพียงเดินเครื่องผลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 10-15 วัน ส่วนที่อำเภอทุ่งสงและอำเภอหัวไทร สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
ขณะที่ ที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอบางสะพาน มีฝนตกในพื้นที่ตอนบน ประกอบกับมีคลื่นลมแรงและน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำของอำเภอบางสะพาน คาดว่าระดับน้ำสูงสุดที่สถานี GT.20 ระดับ 6.17 เมตร(รทก.) หรือสูงกว่าตลิ่งประมาณ 17 เซนติเมตร ในช่วงเวลา 09.00 น. วันนี้(6 ม.ค. 62) คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเย็นของวันนี้(6 ม.ค. 62) ที่ จังหวัดชุมพร มีน้ำล้นตลิ่งคลองชุมพรที่สถานี x201A สูงสุดเมื่อเวลา 16.00 น.วานนี้(5 ม.ค. 62) สูงกว่าตลิ่ง 1.91 เมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณสี่แยกปฐมพร ถนนเพชรเกษม และเมื่อเวลา 6.00 น.ที่ผ่านมา ระดับน้ำยังคงสูงกว่าตลิ่งประมาณ 36 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับยังคงมีน้ำทะเลหนุนสูง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มอีกระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งในช่วงบ่ายของวันนี้(6 ม.ค. 62)
ส่วนที่จ.ปัตตานี สถานการณ์น้ำท่า ลุ่มน้ำปัตตานีระดับน้ำวันนี้ (6 ม.ค. 62) อยู่ที่ 2.33 เมตร(รทก.) ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 33 เซนติเมตร เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณชุมชนบ้านบริดอ อ.เมือง ก่อนเข้าเมืองปัตตานี คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ สำหรับในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล สถานการณ์น้ำยังปกติ ระดับน้ำท่าต่างๆ ต่ำกว่าตลิ่ง และมีแนวโน้มลดลง
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ภาคใต้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึกจากการวิเคราะห์รายพื้นที่ พบว่ายังคงต้องพร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีช่องว่างมากขึ้นไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯ จากฝนที่จะตกหนักลงมาอีกในระยะต่อไป ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำอ่างขนาดกลาง 7 แห่ง ได้แก่ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง และ จ.กระบี่ 2 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 26 แห่ง ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 23 แห่ง ดังนี้ จ.เพชรบุรี 2 แห่ง, จ.ประจวบคีรีขันธ์ 6 แห่ง , จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง , จ.ระนอง 1 แห่ง , จ.นครศรีธรรมราช 4 แห่ง , จ.ตรัง 2 แห่ง, จ.พัทลุง 2 แห่ง, จ.สงขลา 2 แห่ง, จ.กระบี่ 2 แห่ง และ จ.นราธิวาส 1 แห่ง.