จ่อชงครม.ยืดเวลาตีทะเบียนแรงงานต่างด้าวประมง31มี.ค.นี้
การเมือง
โดยพล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลเพิ่มเติม โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณา คือ มอบหมายกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้ครอบคลุมคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายหลังวันที่ 6 พ.ย. 2561 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ออกไปอีก และ ให้กระทรวงการต่างประเทศมอบอำนาจการตรวจลงตรา (Non Immigrant L-A) ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดังนั้นเพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายหลังวันที่ 6 พ.ย. 2561 สามารถเข้าจัดทำทะเบียนประวัติ รับหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ขอรับการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งจะสามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารแสดงตนอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาทำงานในกิจการประมงทะเลได้เพิ่มขึ้น
“ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการยื่นขอทำหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลออกไปจากเดิมหมดเขตวันที่ 31 ม.ค.นี้ ซึ่งจะขยายกรอบระยะเวลาออกไปเป็น 31 มี.ค.62 โดยจำนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป รวมไปถึงยังเห็นชอบให้แรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรหลังวันที่ 6 พ.ย. 2561 สามารถยื่นขอทำ Seabook เพื่อทำงานในกิจการประมงได้ จากเดิมกำหนดให้เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาก่อน 6 พ.ย. 2561 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง และให้กระทรวงการต่างประเทศมอบอำนาจการตรวจลงตรา (Non Immigrant L-A) ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 ที่ศูนย์ OSS ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2561- 4 ม.ค.2562 มีผู้ประกอบการ นายจ้างยื่นแสดงความจำนงขอแรงงานแล้ว 25,920 คน โดยแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนคนประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 1,813 คน เป็นเมียนมา 1,080 คน ลาว 49 และกัมพูชา 684 คน โดยจังหวัดที่มาดำเนินการ 5 ลำดับแรก คือ ปัตตานี ชุมพร ตราด ระยอง และสมุทรสงคราม.