ข่าวนักวิชาการจี้กกต.ชัดเจน ตัดทุกกระแสข่าวยื้อเวลา - kachon.com

นักวิชาการจี้กกต.ชัดเจน ตัดทุกกระแสข่าวยื้อเวลา
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงสถานการณ์การเลื่อนการเลือกตั้งว่า วันนี้สถานการณ์ยังไม่มีความชัดเจนแม้ว่าจะมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาล ยังไม่มีการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้งต่างๆ ซึ่งภายใต้ความไม่ชัดเจนนั้นทำให้บรรดาข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้จะถูกเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับวาระทางการเมือง หรือมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ อย่างหนังสือเวียนของกระทรวงมหาดไทยที่ให้มีการชะลอการปฏิบัติตามแผนการเลือกตั้งนั้นก็เลยเป็นข้อวิจารณ์ ว่าเป็นกระบวนการที่ต้องการเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ เป็นสิ่งที่คสช.ต้องการประวิงเวลาหรือไม่ ทั้งที่ความเป็นจริงอาจจะเป็นกระบวนการทำงานปกติของฝ่ายข้าราชการประจำก็ได้ เพราะ ณ  วันนี้โอกาสที่การเลือกตั้งจะไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ. ค่อนข้างสูง เลยมีการสั่งการให้ชะลอแผนต่างๆ ไว้ก่อน เพราะทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ดังนั้นวันนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือทั้งกกต. คสช. ต้องร่วมกันพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อว่าจะยังมีข้อมูลต่างๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ ที่จะถูกนำไปเชื่อมโยง หากยังไม่ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนคิดว่าในระยะสั้นอาจจะเป็นเพียงข้อวิพากษ์วิจารณ์ แต่ระยะยาวจะเป็นประเด็นสะสมที่ส่งผลต่อความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ทั้ง กกต. คสช. หรือแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหากมีเหตุชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงกับคสช.ก็จะกระทบกับความชอบธรรมรัฐบาลนั้นด้วย ดังนั้นต้องทำให้ผ่านพ้นช่วงระยะเวลาที่คลุมเครือให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกกต. ในการบริหารจัดการเลือกตั้ง หน้าที่รองคือ คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งที่ต้องทำให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ข่าวต่างๆ สร้างผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ ตนมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวตามปกติ เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมและแสดงความห่วงใยทางการเมือง แต่เชื่อว่าไม่รุนแรงถึงขั้นกระทบกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง และเชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นลุกลามเป็นม็อบอะไร เพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอม แต่ถ้าระยะยาวเกินกรอบ 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือเกินวันที่ 9 พ.ค. ไปแล้วยังไม่มีการเลือกตั้ง ก็อาจจะมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองได้ และอาจจะเสี่ยงเกิดความรุนแรงได้ เพราะหลังจากนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ว่าจะให้เส้นทางเดินต่อไป ความไม่ชัดเจนจะเกิดขึ้นทันที ต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายพิเศษต่างๆ ซึ่งเป็นช่องว่างทำให้เกิดการแทรกตัวของการเมืองแบบมวลชนเข้ามาในระบบได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ไปสู่เรื่องแบบนี้ วันนี้ต้องทำให้ชัดเจน อย่างเหตุผลที่ให้เรื่องของการเลื่อนเลือกตั้งเพื่อไม่ให้กระทบงานพระราชพิธีก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้ การเลื่อนเลือกตั้งไม่ใช่ปัญหา ที่มีปัญหาคือความไม่ชัดเจน.