'บิ๊กอู๋'บุกชลบุรีตรวจศูนย์จัดหาแรงงานอีอีซี
การเมือง
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แห่งนี้มีแผนการดำเนินงานในระยะสั้นจะให้บริการจัดหางาน พัฒนากำลังแรงงาน คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ 1. ประชุมบูรณาการร่วมในการขับเคลื่อนศูนย์กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน 2.จัดหางานแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงานให้สถานประกอบการ 3.เร่งรัดสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปฝึกอบรมลูกจ้างตนเองเพื่อยกระดับฝีมือ 4.แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษาที่จะจบการศึกษา 2561 เพื่อปรับตัวเข้าสู่ระบบการจ้างงาน 5. ให้ความรู้ด้านการคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานตามกฎหมายให้แก่แรงงาน 6.ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและกองทุนประกันสังคม 7.ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน 8.ให้บริการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านตู้ TDM 9.ตรวจลงตราและอนุญาตทำงาน 10. จัดทำข้อมูลความต้องการด้านแรงงาน 11.ประชาสัมพันธ์สถานที่ตั้ง ภารกิจ และการบูรณาการร่วมกันในการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์ โซเซียลมีเดีย สื่อมวลชน และป้ายโฆษณา
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับความต้องการแรงงาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยจังหวัดชลบุรีมีสถานประกอบการ 490 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 2,139 ตำแหน่ง 6,132 อัตรา ได้รับการบรรจุงานแล้ว มีสถานประกอบการ 457 แห่ง 2,071 ตำแหน่ง 5,504 อัตรา จังหวัดระยองมีสถานประกอบการ 238 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 850 ตำแหน่ง 4,731 อัตรา ได้รับการบรรจุงานแล้ว มีสถานประกอบการ 85 แห่ง 251 ตำแหน่ง 2,690 อัตรา และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานประกอบการ 338 แห่ง ตำแหน่งงานว่าง 1,059 ตำแหน่ง 4,733 อัตรา ได้รับการบรรจุงานแล้ว มีสถานประกอบการ 212 แห่ง 449 ตำแหน่ง 1,797 อัตรา
ส่วนแผนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในระยะกลาง 1-5 ปี มีเป้าหมายในการจัดหาแรงงานเข้าสู่โครงการพื้นฐานหลักของ EEC โดยการสำรวจความต้องการแรงงานจากผู้รับการประมูลงาน เชื่อมโยงข้อมูลแอพพลิเคชั่น เข้าสู่ระบบบริหารจัดการของ EEC สร้างกระบวนการแนะแนวอาชีพการปรับทัศนคติ และสร้างค่านิยมในการทำงานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา สร้างเครือข่ายฝึกทักษะฝีมือกับสถานศึกษาและภาคเอกชน จัดเตรียมหลักสูตรการพัฒนาฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการและโครงสร้างพื้นฐาน ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงานด้วยระบบดิจิทัล
ส่วนในระยะยาว 5-10 ปี มีเป้าหมายในการจัดหาแรงงานเข้าสู่โครงการพื้นฐานหลักของ EEC โดยการเชื่อมโยงข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลครบวงจร สะดวกรวดเร็ว โดยสามารถหางานด้วยตนเองและระบบสนับสนุนให้บริการกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ประสานแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย มีหลักสูตรการพัฒนาทักษะตามความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีระบบรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการปรับเปลี่ยนอาชีพด้วย.