ข่าวหุ้นรพ.เอกชนร่วง!หลังกกร.เคาะค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุม - kachon.com

หุ้นรพ.เอกชนร่วง!หลังกกร.เคาะค่ารักษาเป็นสินค้าควบคุม
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ (กกร.) มีมติเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เข้ามาเป็นสินค้าควบคุม พร้อมให้ตั้งอนุกรรมการ 1 ชุดเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาและพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการที่จะเข้ามาดูแลสินค้ายา เวชพัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ว่า จริงๆ เรื่องนี้ยังไม่ได้ถึงที่สุด คำว่าสินค้าที่ต้องมีการควบคุมที่ว่านั้นหมายถึงว่าต้องมีการเปิดเผยรายการราคาของรพ.เอกชน ซึ่งก็เปิดเผยอยู่แล้วเพราะตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลให้ทำอยู่แล้ว ให้คิดราคาล่วงหน้า ใช้อะไรก็คิดราคาตามที่เขียนล่วงหน้า ถ้าไม่เขียนล่วงหน้าก็คิดเงินไม่ได้ แต่การจะบอกว่าควบคุมไม่ให้ราคาสูงเกินไปนั้นคิดว่าไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเรื่องค่าแรงหมอ พยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนก็ขึ้นทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหมวดต้นทุนรายการที่ใช้นั้นอาจจะกระจัดกระจายกัน เพราะฉะนั้นภาพรวมไม่ได้ทำให้ถูกลงหรอก ถูกลงไม่ได้ อย่างรพ.เอกชนที่เห็นว่ามีกำไรหลายพันล้านก็ต้องดูว่าเขาทำงานตั้งเท่าไหร่ ดูคนไข้ตั้งกี่ล้านคน ซึ่งปัจุบันรพ.เอกชนทั้งหมดดูคนไข้เกือบๆ 60 ล้านคน ถ้ากำไรคนละ 100 บาทก็เป็นเงิน 6,000 ล้านบาทแล้ว ถามว่ากำไรมากเกินไปหรือไม่

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กกร. มีมติออกมาอย่างนี้ทำให้คนตกใจ และทำให้หุ้นของโรงพยาบาลเอกชนตกลง ซึ่งอาจจะพูดได้ว่ายังเป็นผลกระทบในระยะสั้น ต้องดูทิศทางว่ายังอยากมีโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่ ถ้ายังอยากมีโรงพยาบาลเอกชนหุ้นก็ตกแค่ระยะสั้น แต่ถ้าอยากเลิกไปเลยหุ้นก็ตกระยะยาว

เมื่อถามว่าจะมีการทำหนังสือคัดค้าน หรือชี้แจงเรื่องนี้ต่อกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าจะคัดค้านอย่างไร ถ้าอยากจะฟังเราก็ต้องคุยกับเรา เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยทำหนังสือขอเข้าพบรมว.กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ให้เราพบแล้วจะให้คุยกับใคร ซึ่งจริงๆ ประเทศนี้ต้องออกแบบร่วมกัน เพราะมีทั้งสิ่งที่ท่านรู้และท่านไม่รู้ สิ่งที่ท่านไม่รู้ก็ต้องฟังคนอื่นด้วย ไม่ใช่ไม่ฟัง

“ถ้าประเทศไทยจะมีแค่รพ.รัฐก็ได้ เอกชนเป็นกิจการเสรี ถ้าไม่มีเอกชนจะเอาอย่างนั้นหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีเอกชน รพ.รัฐไหวหรือไม่ รพ.เอกชนเป็นทางเลือก ถ้าเราไม่แฮปปี้กับการรักษาที่รพ.รัฐก็ไปเอกชน แต่ถ้าเราไม่มีทางเลือก อย่างเช่นเจ็บป่วยฉุกเฉิน รพ.เอกชนก็ช่วยให้ทั้งที่เอกชนเองก็ขาดทุน ขนาดไม่ใช่วิกฤติสีแดงก็ยังขยับขยายให้” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว.