ชาวยางเฮ!ตีปี๊บ'ถนนยางพารา'ก.พ.นี้ทั่วประเทศ
การเมือง
พร้อมกันนี้เชิญผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาชี้แนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในการสร้างถนนยางพารา ให้ทุกท้องถิ่นเร่งรัดนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐให้มากขึ้น รักษาเสถียรภาพราคาตามเป้าหมายเพิ่มการใช้ยางในประเทศ 30% ลดการพึ่งการส่งออกได้ เกษตรกรสวนยางมีรายได้ยั่งยืน
นายกฤษฏา กล่าวว่าหน่วยงานที่เชิญมาร่วมประชุมวันนี้เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้รับทราบวิธีการ กระบวนการดำเนินงานฯ รวมถึงมาตรฐานและขั้นตอนการสร้างถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ให้ถูกต้องตรงกัน จะได้เร่งเดินหน้าก่อสร้างถนนได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ จะมีระยะทางรวม 75,032 กิโลเมตร ใช้น้ำยางสดปริมาณกว่า 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้นประมาณ 7.2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าน้ำยางสดกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเตรียมเสนอแผนการใช้ยางพาราอื่น ๆ ให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยเห็นชอบ และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ นำไปจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที
นายกฤษฎา กล่าวว่า กยท. รายงานข้อมูลล่าสุดว่า มีอบจ. หลายจังหวัดเริ่มดำเนินการแล้ว ทั้งนี้การสร้างถนนสัญจรในชุมชนเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนการจัดสรรงบประมาณสร้างถนนขึ้นกับแต่ละอบจ. ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาอบจ. ก่อน ที่ผ่านมาตามที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณกลางปี 2561 (โครงการไทยนิยมยั่งยืน) เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพาราในภาครัฐนั้น กระทรวงกลาโหมดำเนินการสร้างถนนชุมชนต่างๆ แล้วใน 30 จังหวัด สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการสร้างถนนและคันคลองชลประทานใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครพนม เพชรบุรี นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ และปราจีนบุรี รวมระยะทาง 125.56 กิโลเมตร โดยคาดว่า จากการประชุมชี้แจงครั้งนี้จะได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างถนนที่มียางพาราเป็นส่วนผสมตามเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้หาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพารามีความทนทานกว่าถนนดินลูกรังบดอัดแน่นซึ่งทำกันอยู่เดิมถึง 3 ปี
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่ากยท. กล่าวว่า อบจ. หลายจังหวัดได้ส่งประเด็นข้อสงสัยเข้ามาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงในการประชุมวันนี้ได้แก่ วิธีการตรวจสอบคุณภาพน้ำยางสด คุณสมบัติของวัสดุผสมได้แก่ ลูกรัง สารลดแรงตึงผิวที่ใช้ผสมน้ำยางสด เครื่องจักรกลที่ต้องใช้สำหรับก่อสร้าง อัตราส่วนผสมแต่ละพื้นที่กำหนดอย่างไร ต้องซื้อน้ำยางสดจากที่ใด รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง รวมถึงการทดสอบมาตรฐานของถนนที่ก่อสร้างแล้ว ก่อนจะตรวจรับ ซึ่งในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงทุกคำถาม เพื่อให้อบจ. ทั่วประเทศดำเนินการก่อสร้างได้เร็วที่สุด
ล่าสุดกยท. ได้รายงานการปรับตัวของราคายางพารา ซึ่งกระเตื้องสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐ โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2561 อยู่ที่กิโลกรัมละ 43.84 บาท ส่วนราคาปิดตลาดเมื่อวานนี้ (10 ม.ค.) อยู่ที่ กิโลกรัมละ 45.53 บาท เพิ่มขึ้น 1.69 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 3.85