ข่าวจ่อชงคกก.โรคศิลปะตีความ'ค่ายา'เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาหรือไม่ - kachon.com

จ่อชงคกก.โรคศิลปะตีความ'ค่ายา'เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาหรือไม่
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผอ.สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงการควบคุมค่ายาและค่ารักษา ว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ยังต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และออกมาเป็นกฎหมายอีก แต่ข้อเท็จจริงนั้นยาถือเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว ซึ่งจากการหารือกันเบื้องต้นทาง รพ.เอกชน ก็ได้ชี้แจงข้อกังวลเรื่องของค่ายาในโรงพยาบาลว่าจัดเป็นสินค้าหรือไม่ เพราะหากเป็นร้านขายยาถือว่าเป็นสินค้าควบคุมแน่นอน เพราะต้องมีการติดราคาไม่ให้ขายเกินราคา แต่ขายถูกกว่าได้

"ส่วนค่ายาในโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ นั้น ทาง รพ.เอกชนอยากให้คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะตีความว่า จัดเป็นส่วนหนึ่งของการบริการรักษาหรือไม่ เพราะมองว่าจะต้องมีการตรวจร่างกาย มีการวินิจฉัย มีอาการอย่างไร ผลแล็บอย่างไร จ่ายยาอย่างไร ความแรงเท่าไร จำนวนเท่าไร ถึงจะป้องกันโรคได้ แล้วนัดมาดูอาการ เป็นลักษณะของกลไกการรักษา นอกจากนี้ การจ่ายยาในโรงพยาบาลก็เป็นการจ่ายตามความเห็นของแพทย์ เช่น ยาอยู่ในโรงพยาบาล 1 แกลลอน แต่แบ่งจ่ายให้คนไข้ 20 ซีซี ยาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะหรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วจัดเป็นสินค้าตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งผมก็จะเอาข้อกังวลเหล่านี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ" ทพ.อาคม กล่าว

ทพ.อาคม กล่าวว่า คณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ ประกอบด้วยตัวแทนจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพต่างๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงาน ว่าจะดำเนินการประชุมเมื่อไร แต่คณะกรรมการฯ จะรับพิจารณาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอาจมองว่าไม่ใช่หน้าที่ก็ได้ นอกจากนี้ ก็ต้องอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการฯ ด้วยว่า ยาในโรงพยาบาลจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาหรือจัดเป็นสินค้า หากเป็นสินค้าก็จะเข้าสู่กฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะแสดงความโปร่งใสอย่างไร ในเรื่องของต้นทุน ค่าบริหารจัดการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พาณิชย์มีการตั้งคณะอนุกรรมการมาพิจารณาอยู่

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความเข้าใจคนทั่วไป คือ ยาในคลินิกในโรงพยาบาลต้องควบคุม ว่าเหตุใดทำไมถึงแพง สมมติจ่ายยาพาราเซตามอล 10 เม็ด ยาแก้อักเสบ 20 เม็ด คิด 300 บาท แต่ข้างนอกราคา 50 บาท ซึ่งหากมองว่าเป็นสินค้าก็ต้องติดป้ายราคายาในหรือไม่ ถ้าไม่ติดป้ายห้ามจ่ายคนไข้ เพราะเป็นสินค้าควบคุม แต่ที่ผ่านมายาในโรงพยาบาลก็ไม่เคยเห็นมีใครติดป้ายไว้ที่ยา ไว้ที่กล่อง ก็จ่ายตามปกติ แต่ต้องชี้แจงราคายา ซึ่งจะมีเป็นแฟ้มราคายาในห้องยาอยู่ ซึ่งก็มีเป็นพันๆ รายการ และสามารถค้นมาดูได้ เหล่านี้ก็ต้องมาวินิจฉัยกัน" ทพ.อาคม กล่าว.