ข่าวกรมท้องถิ่นรับยังขาดประสิทธิภาพจัดการขยะพิษ - kachon.com

กรมท้องถิ่นรับยังขาดประสิทธิภาพจัดการขยะพิษ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็น จำนวน 5 หน่วยงานคือ 1.กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 3.กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม 4.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ5.กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะเริ่มการประชุมนั้น ปรากฎว่าตัวแทนจากกรมอนามัยไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย พล.อ.นิพัทธ์จึงสอบถามกับเจ้าหน้าที่ว่าได้มีการแจ้งล่วงหน้าถึงเหตุผลที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่ได้แจ้งล่วงหน้า พล.อ.นิพัทธ์จึงได้บอกให้เจ้าหน้าที่ลงบันทึกการประชุมไว้ด้วยว่ากรมอนามัยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ไม่ได้เดินทางมาด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมดำเนินการไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้พล.อ.นิพัทธ์ทราบว่า ตัวแทนจากกรมอนามัยกำลังเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งพล.อ.นิพัทธ์ก็ได้พยักหน้ารับทราบ

สำหรับบรรยากาศในการประชุมนั้น ตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ซากผลิตภัณฑ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายังไม่มีประสิทธิภาพและยังมีปัญหา อีกทั้งยังมีการแยกขยะไม่ถูกวิธี รวมทั้งยังพบโลหะหนักปนเปื้อนในขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งสิ่งที่เป็นขยะผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์คือ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ไร้สาย โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดช่องเพื่อให้อำนาจแก่รัฐมนตรีออกข้อกำหนดเพิ่มเติมได้ด้วย

สำหรับการพิจารณาในส่วนของศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์และขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ตัวแทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชี้แจงว่า ท้องถิ่นก็มีหน้าที่ในการจัดการขยะ รวมถึงกทม.และพัทยา โดยหลังเก็บแล้วจะต้องคัดแยกขยะ แต่ไม่รวมถึงซากผลิตภัณฑ์ เพราะต้องยอมรับว่ายังขาดประสิทธิภาพในการจัดการซากผลิตภัณฑ์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงว่าการที่กฎหมายกำหนดให้อปท.ร่วมกับเอกชนนั้น จะต้องมีการจัดหาสถานที่ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณางบฯ เพิ่มเติม รวมถึงบุคลากร และภาระงานขยะด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรรมาธิการฯ ยังแสดงความเป็นห่วงผู้ประกอบอาชีพซาเล้งด้วยว่าจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ที่จะกระทบกับซาเล้งแน่นอนคือ จะต้องไปจดทะเบียนกับหน่วยงานเพื่อบอกให้รู้ว่าเก็บแล้วจะนำไปทิ้งไว้ที่ไหน เพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องและดำเนินการจัดการต่อไป

ขณะที่ปัญหาเรื่องการลักลอบนำมาทิ้งจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรเพื่อนำมาลงโทษนั้น ที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาซากผลิตภัณฑ์ที่นำมาทิ้งส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ หากลักลอบนำมาทิ้งย่อมจะต้องมีคนเห็น และยิ่งมีบทลงโทษถึงขั้นติดคุกด้วยแล้วเชื่อว่าคงจะไม่มีใครกล้า ขณะที่โทรศัพท์มือถือนั้นมีมูลค่าในตัว จึงไม่ค่อยมีใครนำมาทิ้งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากนี้จำเป็นต้องมีการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบควบคู่กันไปด้วย.