ข่าวสธ.ชี้ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากN95 ย้ำไม่ถึงขั้นหยุดเรียน-งาน - kachon.com

สธ.ชี้ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากN95 ย้ำไม่ถึงขั้นหยุดเรียน-งาน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แถลงข่าวการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯเพื่อเฝ้าระวังโรคและผลกระทบสุขภาพจากภาวะฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณมาก โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาล รวมไปถึงโซเชียลมีเดีย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง ทั้งนี้ ร่างกายจะมีการกรองฝุ่นในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ PM2.5 จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไปได้ลึกถึงปอดมากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพทันที เพราะเป็นเพียงความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความเข้มข้น ระยะเวลา ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องได้รับมากน้อยหรือเวลามากเท่าใดจึงจะเกิดปัญหา ทางที่ดีคือลดความเสี่ยงในการสัมผัส ซึ่งการป้องกันทางหนึ่งคือ การใช้หน้ากากอนามัย เช่นชนิด N95 มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ใช่ตำตอบเดียวเพราะต้องใส่ให้แน่นกระชับไม่มีอากาศผ่าน หากใส่ไม่ถูกก็ไม่มีผลอะไร แต่ใส่แล้วหายใจไม่สะดวก ดังนั้นอยากชี้แจงว่าหน้ากาก N95 ยังไม่ได้จำเป็นถึงขั้นนั้น อย่างไรก็ตามสวมหน้ากากอนามัยปกติก็สามารถป้องกันได้ 50 เปอร์เซ็นต์ และมีข้อมูลงานวิจัยอยู่ว่า การนำทิชชูมารองเพิ่มอีก 2 ชั้นก็สามารถช่วยป้องกันได้มากขึ้น เพราะ N95 ก็ใส่ได้ไม่นานเกิน 20 นาทีอยู่แล้ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลในส่วนของเด็กนั้น ก็จะมีการลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจในการดูแลตนเองด้วย ส่วนที่ว่าจะต้องถึงกับหยุดเรียน ไม่เข้าแถวหน้าเสาธงนั้น ตรงนี้อยู่ที่โรงเรียนใช้ดุลพินิจ เพราะหากไม่ได้อยู่พื้นที่สีแดงก็ไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้น ที่สำคัญแม้จะเป็นพื้นที่สีแดงก็ไม่ได้สีแดงตลอดทั้งวัน และเมื่อยอู่ในตึกในอาคารก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา



ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรุงเทพฯเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่ พ.ย. 2561 เพราะทราบดีว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นช่วงปลาย ธ.ค. - ม.ค. โดยอาศัยข้อมูลจากทาง คพ.และ กทม. หากพบว่าพื้นที่ใดอยู่ในระดับสีส้มขึ้นไป คือ มีความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก หรือมีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ก็จะแจ้งเตือนและให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาทุกวัน ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในตอนนี้มีที่แตะสีแดง คือ เกิน 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป เพียงไม่กี่พื้นที่ แต่ประเด็นคือค่าฝุ่นนี้ไม่ได้สูงทั้งวัน และไม่ได้ครอบคลุมทั่วทั้ง กทม. ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ส่วนกลุ่มเสี่ยงนั้นหากอยู่ในพื้นที่สีส้มก็แนะนำว่าให้ลดกิจกรรมออกกลางแจ้ง อยู่ในอาคารสถานที่ และดูแลสุขภาพ แล้วคอยประเมินว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาค่าฝุ่นยังไม่เคยถึง 200 มคก./ลบ.ม. เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งหากถึงขั้นนั้นอาจจะต้องออกมาตรการทางกฎหมาย เช่น ห้ามมีกิจกรรมทางกลางแจ้ง เป็นต้น

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า กรมมีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบฝุ่น PM2.5 ในโรงพยาบาล 22 แห่ง ในกลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ซึ่งขณะนี้มีรายงานเข้ามาเบื้องต้นเพียง 7 โรงพยาบาล โดยเป็นข้อมูลย้อนหลัง 5 เดือน คือ ช่วง ส.ค. - ธ.ค. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยรวมประมาณ 364 ราย ซึ่งสถานการณ์ไม่ต่างจากปีก่อนหรือปี 2560 แต่อย่างใด

ขณะที่ นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้มาตรการยังคงเป็นการขอความร่วมมือประชาชนในการลดความเสี่ยง และลดการกำเนิดฝุ่น PM2.5 เช่น ลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะรถเก่าที่ก่อควันดำ วางแผนการเดินทางโดยเลือกเส้นทางที่รถติดน้อย เพราะยิ่งรถติดมากยิ่งก่อมลพิษมาก การเลิกเผาในที่แจ้ง การปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นซึ่งช่วยลดมลพิษในอากาศได้ เป็นต้น เป็นมาตรการเบาไปหาหนัก ส่วนการออกมาตรการทางกฎหมายมาแก้ไขเรื่องนี้อาจพิจารณาว่า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดงทั้งวันและกินระยะเวลามากกว่า 3-4 วัน ก็อาจจะมีการออกมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามรถดีเซล มาตรการวันคู่วันคี่ ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้หากนำมาใช้เลยจะเกิดผลกระทบอย่างมาก แต่หากอนาคตเมื่อระบบขนส่งสาธารณะมีความสมบูรณ์ ก็อาจเป็นทางเลือกในการดำเนินการ

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคุณภาพน้ำมันที่จะเปลี่ยนไปสู่ยูโร 5 หรือยูโร 6 ขณะนี้ก็มีการหารือในส่วนของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการจะเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันจะต้องมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ ซึ่งก็ต้องดูว่ามีความพร้อมในการปรับเปลี่ยน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันได้ ก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนรถยนต์ในอนาคต แต่ก็พบว่า น้ำมันยูโร 5 เมื่อนำมาใช้กับรถที่เป็นยูโร 3 หรือ 4 ก็ช่วยลดมลพิษลงได้ ซึ่งขณะนี้มี ปตท. บางจาก ที่มีการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 แต่มีไม่มากนัก.