ข่าว'หญิงหน่อย'วางตัวส.ส.ครบแล้ว รอวันเลือกตั้งชัดเปิดตัวทันที - kachon.com

'หญิงหน่อย'วางตัวส.ส.ครบแล้ว รอวันเลือกตั้งชัดเปิดตัวทันที
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.  ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว. คมนาคม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมว่าที่ผู้สมัครกรุงเทพมหานครของพรรคพท. อาทิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง  นายสุรชาติ เทียนทอง นายการุณ โหสกุล นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส นายอุสรณ์ ปั้นทอง และนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์  นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ฯลฯ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองที่กำลังส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพฯ ขณะนี้ 

โดยนายปลอดประสพ กล่าวว่า การที่พรรคต้องตัดสินใจออกมาเดินถนนในวันนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องอันตรายไปเสียแล้ว นิ่งดูดายไม่ได้ ทั้งนี้ มีผู้ใหญ่บางคนพูดเหมือนเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้ทุกปี ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ใช่ เรื่องที่เกิดขึ้นหากรัฐ บาล และหน่วยงานี่เกี่ยวข้องร่วมมือ ร่วมใจกันอย่างจริงจัง ไม่หนีไปต่างจังหวัดเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในส่วนของพรรคพท. ขอเสอเท่าที่คิดออกในขณะนี้ 12 เรื่อง คือ 1.อย่าอยู่ในที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เยอะ 2.ใส่หน้ากาก 3.ลดการใช้รถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล 4.ไม่เผาในที่แจ้ง 5.หมั่นล้างรถโดยเฉพาะล้อ 6.ล้างทำความสะอาดสถานที่ก่อสร้าง 7.ล้างทำความสะอาดถนน 8.ควบคุมการขนส่งซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่น เช่น รถบรรทุกกรวด ทราย 9.ฉีดพ่นน้ำในอากาศ 10.ปิดโรงเรียนในจุดวิกฤต 11.ทำฝนเทียม และ 12.เตาเผาในวัดหลายแห่งยังไม่ถูกหลัก

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น พรรคขอเสนอ 5 เรื่องใหญ่ คือ 1.จัดทำนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ซึ่งรถอายุเกินกว่า 10 ปีต้องออกไปจากถนนลดจำนวนเครื่องยนต์ดีเซล และสนับสนุนรถไฟฟ้าไฮบริช 2.ดำเนินการขบวนการไออีเออย่างเคร่งครัดทั้งในระยะการก่อสร้างและระยะการใช้ประโยชน์ 3.กำหนดมาตรฐานทางกฏหมายที่เข้มงวดสำหรับการเผาในที่แจ้ง 4.ตรวจสภาพเครื่องยนต์อย่างเข้มงวดในการตรวจสภาพประจำปี และ 5.จัดให้มีนโยบายสาธารณะเสียใหม่ เช่น เรื่องที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการทะนุถนอมทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า สาเหตุฝุ่นมาจากการก่อสร้างในโครงการใหญ่ เช่น ตึกสูง และโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งทุกเรื่องควรต้องทำอีไอเอกำกับทุกขั้นตอน โดยที่ผ่านมามีมาตรการต่างๆอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องไปกำกับให้เข้มข้นขึ้น รัฐต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนแบบตรงกัน และจะต้องตั้งศูนย์ให้สอบถามสภาพอากาศ จะมาบอกให้รอ เดี๋ยวหายเอง แบบนี้ไม่ได้ เมื่อวานไปเดินสยาม แม่ค้าบ่นขายของไม่ดี เพราะแถวนั้นอากาศไม่ดี ก็กระทบกับเศรษฐกิจไปด้วย ทั้งนี้ เราไม่ได้โทษรัฐบาลทั้งหมด แต่ควรมาดูว่าจะร่วมกันทำตรงไหนได้บ้าง

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการวางตัวผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า ตอนแรกเราคิดว่าจะมีการเลือกตั้ง24 ก.พ. ดังนั้นการเตรียมวางตัวผู้สมัครเราเตรียมไว้แล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะเรามียุทธศาสตร์ในการดำเนินการเรื่องต่างๆ โดยวันที่ 21 ม.ค. จะมีการเปิดตัวทีมเพื่อไทย ที่จะวางบุคคลในการทำงานด้านต่างๆ  ส่วนจะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส. เมื่อใดนั้น ขอให้ทราบก่อนดีกว่าว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด เพราะพรรคเพื่อไทย มีหน้าที่ในการเสนอนโยบายให้กับประชาชน ส่วนวันเลือกตั้งต้องไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าประกาศชัดก็จะดีกับทุกฝ่าย รวมถึงด้านเศรษฐกิจ บรรยากาศด้านต่างๆ ก็จะดีขึ้น 

เมื่อถามว่าหากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยกังวลหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า เรากังวลทั้งนั้น แต่เราไม่มีอำนาจไปชี้อะไร การจะเลือกตั้งอะไรก็เป็นสิ่งที่เราอยากรู้ ซึ่งเราก็เหมือนกับประชาชนที่ต้องรอความชัดเจนของผู้ที่มีอำนาจโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องมีความชัดเจน  ไม่ทราบว่าที่บรรยากาศอึมครึมอย่างนี้ จะเป็นประโยชน์กับใคร ส่วนใหญ่น่าจะไม่เป็นประโยชน์กับใคร อาจจะเป็นประโยชน์เฉพาะผู้มีอำนาจเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดควรไปถามพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อใด

ขณะเดียวกัน ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยชาว กทม.จำนวน 41 คน เดินทางมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 1 นายกรัฐมนตรีที่ 2 และผู้ว่าฯ กทม. ที่ 3 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จากกรณีปัญหาฝุ่น PM2.5 แพร่กระจายเกินมาตรฐานปกคลุม กทม.และปริมณฑล จนเป็นเหตุให้ประชาชนเจ็บป่วย และก่อปัญหาตามมามากมาย โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวมทั้งไม่มีมาตรการหรือแผนงานที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรมในระยะยาวได้ และอาจกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ 
          
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาว กทม.จึงรวมตัวกันนำความายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ภายใน 30 วันนับแต่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเป็นที่สุดและขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา 

โดยให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 สั่งดังนี้ 1.สั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร กระทำหรือร่วมกันกระทำการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะมลพิษภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง 2.สั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดออกประกาศ กำหนดมาตรการห้ามเผาไร่อ้อย เผาซังข้าว และบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 3 วัน 

และ 3.ให้ผู้ว่าฯ กทม. ใช้อำนาจตามมาตรา 32 แห่งพ.ร.บ.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 และกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 ในการออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการระงับและป้องกันการแพร่กระจายของฝุ่น PM 2.5 พร้อมกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่น ในพื้นที่ของกทม.ให้ได้มากที่สุด และออกคำสั่งห้ามมีการตัดต้นไม้บริเวณทางเท้าริมถนนโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะเป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงามและหรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น.