ข่าวติดตามง่ายขึ้น!ป.ป.ช.จ่อใช้วิธีถ่ายรูป-พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ถูกกล่าวหา  - kachon.com

ติดตามง่ายขึ้น!ป.ป.ช.จ่อใช้วิธีถ่ายรูป-พิมพ์ลายนิ้วมือผู้ถูกกล่าวหา 
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. รวม 9 ราย พร้อมด้วยเลขาธิการ ป.ป.ช. และผู้บริหารระดับสูงสำนักงาน ป.ป.ช. และบรรณาธิการสื่อมวลชน 16 รายเข้าร่วมกิจกรรม โดย พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ดังกล่าวยังเป็นกฎหมายทางอาญาฉบับแรก ที่กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงาน โดยคดีใหม่ต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปี นับตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นคือในชั้น ป.ป.ช. จนถึงขั้นกลั่นกรองตรวจสอบคือในชั้นอัยการ เมื่ออัยการรับสำนวนไปแล้วต้องพิจารณาใน 180 วัน หากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ต้องแจ้งกลับมาภายใน 90 วัน 

ทั้งนี้หากไม่ทำตามกำหนดเวลา ต้องมีผู้รับผิดชอบ แสดงว่าบกพร่องต่อหน้าที่ซึ่งหมายรวมถึงตัวกรรมการด้วย ทั้งนี้เป็นปัญหาที่ท้าทาย ป.ป.ช. เพราะยังมีคดีที่ค้างอยู่ประมาณ 13,000 เรื่องเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาดูว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ร้ายแรงให้ส่งหน่วยงานอื่นทำแทนได้ ดังนั้นต้องเร่งระดมปรับกลยุทธ์ในการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีประเด็นติดขัดอยู่คือ กรณีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เช่น กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่มีในมือ ป.ป.ช. ประมาณ 20 เรื่อง ตรงนี้ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับประเทศที่ร้องขอด้วยว่าจะ มีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับไทยหรือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์ด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากไทยมีโทษประหารชีวิต อาจทำให้ล่าช้า

ประธาน ป.ป.ช.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าคดีทางการเมืองว่า คดีทางการเมืองและที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ ที่ประชุมมอบหมายให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน โดยการไต่สวนถ้าเป็นคดีใหญ่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายจะเป็นองค์คณะไต่สวน ถ้าเรื่องไม่ใหญ่มากแต่สำคัญ ต้องใช้กรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 ราย เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ยืนยันว่าคดีที่ค้างอยู่เดินตามทางครรลองของมัน แต่รายละเอียดบางคดีมีมาก ต้องทำให้ครบถ้วน อาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าทุกเรื่องต้องเสร็จภายในปี 2564 อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังอยู่ระหว่างการร่างระเบียบการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาใหม่ ซึ่งเดิมการแจ้งข้อกล่าวหาคือ ให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบ ต่อมาเมื่อไต่สวนไปเรื่อย ๆ มีการชี้มูลความผิด ส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อถึงเวลาจะนำตัวไปฟ้องศาล ป.ป.ช. ต้องเป็นผู้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไป แต่บางคดีระยะเวลาล่วงไปหลายปี อาจทำให้เจอตัวผู้ถูกกล่าวหายาก คราวนี้จะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่คือ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกถ่ายรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย คาดว่าภายในเดือน ก.พ.นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ยืนยันว่าอะไรทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ ป.ป.ช.จะเร่งดำเนินการ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 36 พ.ร.ป.ป.ป.ช.นั้น ว่า โดยหลักการในมาตรา 36 คือการแยกชื่อผู้ร้องกับผู้ถูกร้องไว้ชัดเจน ดังนั้นถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะ ไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ร้องได้ทุกกรณี ส่วนผู้ถูกร้องนั้นหากยังอยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงที่กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา อาจเปิดเผยชื่อต่อสาธารณะได้หากเป็นประโยชน์ในการไต่สวน เช่น กรณีการเรียกรับเงิน เป็นต้น หรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากรวบรวมพยานหลักฐานแล้วสามารถเปิดเผยชื่อ สกุล หรือตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหาได้ เพียงพอให้เข้าใจว่าเป็นข้อกล่าวหาเรื่องอะไร นอกจากนั้นเป็นการพิจารณาลักษณะความผิด แต่ไม่ได้เปิดเผยพยาน หรือรายละเอียดมาก เว้นแต่ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด จะมีการระบุพฤติการณ์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องคุ้มครองผู้ร้อง และพยาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อรูปคดี เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด จำเป็นต้องเสนออัยการเพื่อฟ้องศาล หากเปิดเผยไปทั้งหมดจะกระทบต่อรูปคดีได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างระเบียบดังกล่าว และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.