ข่าว'วิษณุ'ชี้เก็บบัตรปชช.แลกเงินโยงใบแดงหลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศ - kachon.com

'วิษณุ'ชี้เก็บบัตรปชช.แลกเงินโยงใบแดงหลังพ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าปลัดจังหวัดแห่งหนึ่งสั่งเก็บบัตรประชาชนโดยให้เงินเจ้าของบัตร 500 บาท ถือเป็นการซื้อเสียงหรือไม่ ว่า หากมีการกระทำเช่นนั้นจริง ถือเป็นความผิดอยู่แล้ว ต้องดำเนินคดี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะแจ้งความหรือสอบสวนเองว่าเป็นการกระทำของใคร  โดยแยกเป็น 2 ทางคือ คดีเลือกตั้ง และคดีอาญา และเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าได้รับเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสจะต้องเข้าไปดำเนินการ ส่วนกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง จะโยงไปถึงการให้ใบเหลืองและใบแดงได้หรือไม่นั้น เรื่องดังกล่าวอาจโยงไปถึงได้ ถ้าทำคดีเป็น เพราะเมื่อมีการประกาศพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง คนที่เป็นเจ้าของบัตรประชาชนจะไม่มีบัตรอยู่กับตัว ความผิดแม้จะทำก่อนแต่ผลก็ไปเกิดตอนนั้น ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย และหากมีการร้องไปยัง กกต.จังหวัด ก็สามารถเก็บเรื่องไว้รอให้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งประกาศใช้  แต่ไม่เชิงเป็นการเอาผิดย้อนหลัง เพราะมีผลต่อเนื่องกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง แต่มีการร้องเรียนกันแล้ว ถ้ามีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งจะยิ่งมีจำนวนมากกว่านี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า รับทราบ เป็นห่วงอยู่ แต่จะให้ตนทำอย่างไร ส่วน กกต.กังวลว่าต้องประกาศผลให้ทันกรอบ 150 วัน นายวิษณุ กล่าวว่า กลัวมีได้ 2 ทาง คือ กลัวว่าใช้ 60 วัน ซึ่งจะเกินกรอบ 150 วันแล้วจะมีปัญหา แต่ต้องกลัวด้วยว่าเมื่อไปสร้างข้อจำกัดตัวเองให้การประกาศผลต้องอยู่ในกรอบ 150 วันจะทำให้การทำอะไรก็ตามไม่ละเอียด รอบคอบ จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า แต่ตนและใครๆ ยังคงยืนยันว่า การประกาศผลเลือกตั้งไม่รวมอยู่ในกรอบ 150 วัน  และยังยืนยันว่ากรอบเวลา 60 วัน กับ 150 วัน คนละอย่างกัน ก็ควรใช้เวลา 60 วันให้เต็มที่ จะไปบีบตัวเองให้เหลือ 40 กว่าวันทำไม

เมื่อถามอีกว่า หาก พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งประกาศออกมา กกต.สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ไม่ใช่แค่สงสัยแล้วไปยื่น แต่ต้องมีความขัดแย้งระหว่างองค์กร เช่น รัฐบาลขัดแย้งกับ กกต. แต่ถ้ารัฐบาลและ กกต.เห็นตรงกันก็จบ ขณะที่พรรคการเมืองไม่ถือเป็นองค์กรที่มีส่วนได้เสีย เพราะเลือกตั้งแล้วก็จบ และหากเลยวันที่ 9 พ.ค.ไปแล้ว มีคนสงสัยยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องนี้ ก็ถือเป็นความขัดแย้ง เพราะถ้าไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลวินิจฉัยว่าเลยกรอบจะมีปัญหา และถึงตอนนั้นไม่ใช่ กกต. ประชาชนก็สามารถยื่นให้ตีความได้ จึงเป็นเหตุผลให้ กกต.พยายามจะทำให้ทันภายในเวลา 150 วัน.