คพ.หนุนรถยนต์ไฟฟ้า-ไฮบริดแก้ปัญหาฝุ่น
การเมือง
นายประลอง กล่าวว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดจากรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และการจราจรที่ติดขัด ประกอบกับในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. ความกดอากาศสูงจากจีนจะแผ่เข้ามา ทำให้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีลักษณะคล้ายโดมที่ฝุ่นละอองเกิดการสะสม ไม่สามารถกระจายตัวได้ แต่อย่างไรก็ตามทางคพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และยังดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยสั่งการห้ามเผาในพื้นที่โล่ง ขยายจุดตรวจจับรถควันดำ เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเร่งคืนผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า จัดทำฝนเทียมในพื้นที่ เป็นต้น
“มีหลายฝ่ายให้ความสงสัยว่า ฝนเทียม ช่วยทำให้ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงจริงหรือไม่ จากข้อมูลที่คพ.ได้ตรวจวัด ในวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังเกิดฝนเทียมลงมา ค่าฝุ่นละอองลดลงประมาณ 10 มคก./ลบ.ม. เกือบทุกสถานี ซึ่งไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 ที่ลดลงเท่านั้น แต่ฝุ่น PM10 ก็ยังลดลงด้วย” นายประลอง กล่าว
อธิบดีคพ. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งไม่เหมือนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และส่วนใหญ่รถยนต์ยังใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 3-4 ส่วนทางยุโรปที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 6 กันหมดแล้ว นี่จึงเป็นข้อแตกต่างที่ประเทศไทยไม่สามารถใช้ค่ามาตรฐานตามองค์การอนามัยโลกได้
อธิบดีคพ. กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รัฐบาลจะเร่งปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันบี 20 สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด พร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง และรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร และเร่งพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปีนี้.