ข่าวหวิดวุ่น!สนช.ห่วงผ่านก.ม.กู้ยืมเงิน-ถือหุ้นเร็ว อาจไม่รอบคอบ - kachon.com

หวิดวุ่น!สนช.ห่วงผ่านก.ม.กู้ยืมเงิน-ถือหุ้นเร็ว อาจไม่รอบคอบ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 30 วัน โดยไม่พบการแก้ไขเนื้อหาจากร่างที่คณะรัฐมนตรี​เสนอแม้แต่มาตราเดียว จากทั้งหมด 37 มาตรา  และมีผู้สงวนคำแปรญัตติเพียงแค่ 1 คน ทำให้สนช.หลายคนอภิปรายท้วงติงถึงกรณีการเร่งรัดพิจารณาว่า อาจจะทำให้เกิดความไม่รอบคอบในการพิจารณาร่างกฎหมายหรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. อภิปรายว่า  ตนกังวลว่าอาจมีการพิจารณาไม่รอบคอบหรือไม่ เพราะร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอสู่สนช.นั้นมีจำนวนมาก ทำให้ไม่มีเวลาพิจารณาอย่างเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น แม้ตามข้อบังคับการประชุมกำหนดว่าสนช.ไม่สามารถอภิปรายเนื้อหาร่างกฎหมายได้ หากไม่พบการแก้ไขของกรรมาธิการฯ แต่ตนก็ต้องการให้เกิดความรอบคอบในการพิจารณา

นายพรเพชร จึงชี้แจงว่า ตามข้อบังคับการประชุมของกระบวนการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ นั้น  มีนักกฎหมายเข้าร่วมพิจารณาด้วย จึงทำให้เกิดการตรวจสอบอยู่แล้ว อีกทั้งก่อนนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 นั้น มีคณะกรรมการตรวจร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นคณะทำงานที่กลั่นกรองและพิจารณาเนื้อหาเบื้องต้นด้วย

ขณะที่พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ สมาชิกสนช.ผู้สงวนคำแปรญัตติ กล่าวว่า การให้อำนาจสำนักงานการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน การถือหุ้น และการร่วมลงทุนกับนิติบุคคลนั้น กังวลว่าจะเป็นการเปิดช่องให้แสวงหาผลประโยชน์ได้หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ประธานในที่ประชุมได้สั่งพักการประชุมนานเกือบ 2 ชั่วโมง เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง กรรมาธิการฯ ได้ขอเพิ่มความในบทเฉพาะกาล ให้อำนาจสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถดำเนินการร่วมทุน กู้ยืมเงิน เท่าที่จำเป็นหรือต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้สามารถดำเนินงานได้ จากนั้นที่ประชุมจึงได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง.