ห้ามถอย!จี้ก.พาณิชย์ชงปมค่ารักษาแพงเข้าครม.
การเมือง
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ยืนยันว่าต้องมีการกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชน เพราะจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปี 2559 -2561 มีเรื่องร้องเรียนค่ารักษาแพง 156 เรื่อง 7.5 % ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด และยอดค่าใช้จ่ายที่ร้องเรียนมาสูงมาก ล่าสุดมีดบาดมือ 1 เซนติเมตร แต่ค่ารักษาหลายหมื่นบาท เคส ผ่าตัดสมอง 8 แสนบาท ตรวจสอบเรื่องสิทธิฉุกเฉินก็โยนกันไปมา ขณะนี้เคสนี้อยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือ สำหรับกรณี ที่รพ.เอกชนแถลงข่าวว่าไม่ควรควบคุมค่ารักษาเพราะเอกชนเป็นคนลงทุน 100% ฟังไม่ขึ้น เพราะแพทย์ พยาบาลรัฐเป็นผู้ลงทุนผลิต แต่เอกชนดึงตัวไป อีกทั้งจะเห็นว่าธุรกิจอื่นๆ ก็ลงทุนเอง 100% เช่นกันแต่ก็ยังสามารถกำกับควบคุมราคาได้ คิดว่า รพ.เอกชน เป็นธุรกิจเพื่อชีวิตประชาชน ดังนั้นรัฐ โดยเฉพาะรมว.พาณิชย์ ต้องหูหนัก อย่าหูเบาเป่าไปทางไหนก็เอนไปทางนั้น เรื่องนี้รมว.ต้องเข้มแข็ง เห็นประโยชน์ประชานชมากกว่าประโยชน์การลงทุน
ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข นักวิชาการด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในหลายประเทศเริ่มมีการควบคุมค่ารักษาแล้ว เช่น สิงคโปร์กำหนดกรอบราคาสูงสุดที่ให้เบิกได้ ญี่ปุ่นทำกรอบค่าบริการร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนเดนมาร์ค และอีกหลายประเทศแถบยุโรป ที่ทำเรื่องการจ่ายตามความรุนแรงของโรคคูณกับค่าคงที่ตัวหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้ไทยเองก็ทำในระบบสุขภาพ แต่ไม่ได้ทำกับรพ.เอกชน นอกจากนี้ มาเลเซียได้แก้กฎหมายกำหนดกรอบค่าธรรมเนียมแพทย์ รักษาครั้งแรก การติดตาม การให้คำปรึกษา ได้เท่าไหร่ แต่มีเงื่อนไขเช่น หากผ่าตัดถุงน้ำดีแผลเล็ก แต่ยังไม่หายต้องผ่าตัดใหญ่ ห้ามคิดค่าผ่าตัด 2 ครั้งรวมกัน ให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้หลายประเทศคุมค่ารักษาได้เพราะนโยบายชัดเจน ความร่วมมือหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทประกัน และกองทุนสุขภาพ ดังนั้นประเทศไทยถึงเวลาไม่คุมไม่ได้ แต่ต้องมาหาวิธีร่วมกัน
ผศ.ดร.สุจิตรา ตุลยาเดชานนท์ นักวิชาการ กล่าวว่า จากข้อมูลรพ.เอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ มาในรูปแบบบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นซึ่งไม่ใช่แพทย์ทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้รพ.เอกชนบางแห่งหุ้นราคา 10 บาท แต่มีกำไรเพิ่มทุกปี ปี 2558 ได้กำไร 84 บาท ปี 2559 กำไร 94 บาท ปี 2560 กำไร 104 บาทจะเห็นว่าเพิ่มตลอด ในวันที่ 16 ม.ค. ถีบตัวขึ้นไปอีก 152 บาท จากธุรกิจที่ลงทุน 10 บาท เมื่อปี 2558 วันนี้มีความมั่งคั่งของกิจการลุ่ดคือ 1 พันบาท เพิ่มเป็น 100 เท่า แน่นอนว่าการลงทุนของเอกชนคือ 100% ไม่มีใครปฏิเสธ แต่การลงทุนของรพ.รัฐ คือภาษีอากรของคนทั้งประเทศชาติ มีกรลงทุนไม่ต่างกัน แต่รพ.เอกชนเป็นของกลุ่มคน ซึ่งจริงๆ เราก็แค่ขอท่านแค่พอประมาณ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาผู้ถือหุ้นรพ.เอกชนคือชาวต่างชาติ เป็นกองทุน กว่า 70% นี่เป็นการเอาธุรกิจพยาบาลเป็นหมากตัวหนึ่งในการเล่นเกมให้ราคาหุ้นขึ้นลงได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นไม่ใช่คนไทยคนใดคนหนึ่งได้ประโยชน์
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่สมาคมรพ.เอกชนโต้แย้งว่าเป็นทางเลือกนั้นพูดแบบนี้ง่ายเกินไป เวลาฉุกเฉิน ยกตัวอย่างผู้ป่วยไปรพ.ด้วยสีแดง แต่รพ.บอกไม่ใช่สีแดง ต้องไปรักษาที่อื่น ก็ต้องเสียเงินหรือไปที่อื่น จนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต ดังนั้นมีทั้งเชียว เหลือง ก็ขอให้คิดในอัตราวิกฤติสีแดงได้หรือไม่ เพราะเป็นอัตราที่รพ.เอกชนยังได้กำไรอยู่ อีกประเด็นในบางพื้นที่ เช่น แถวรามคำแหง ซึ่งไม่มีรพ.รัฐบาลเลย ดังนั้นที่บอกว่าให้เป็นทางก็ไม่จริง แต่ถ้ารพ.เอกชนไม่อยากให้เข้า และมองเป็นทางเลือก ก็น่าสนใจรณรงค์ไม่เข้ารพ.เอกชนทั้งประเทศ เพราะไม่อยากให้เราไปใช้ แล้วที่โต้ว่ารพ.เอกชนเป็นธรุกิจสุขภาพไม่ใช่การกุศล แต่กำไรมากขนาดนั้นไม่ใช่ธุรกิจปกติ จึงอยากเห็นรัฐบาลทำหน้าที่ของตัวเอง และถ้าเรื่องการแข่งขันเป็นเมดิคัลฮับ อยากบอกว่าขนาดสิงคโปรเมดิคัลฮับเข้มข้นกว่าไทยยังควบคุม หากคิดเงินเกิน ไม่สมเหตุสมผลจากที่กำกับต้องคืนเงิน.