ข่าวหนุมกม.ห้ามใช้ไขมันทรานส์เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง - kachon.com

หนุมกม.ห้ามใช้ไขมันทรานส์เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ (ไขมันทรานส์) เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น กรมอนามัยขอสนับสนุนมาตรการดังกล่าวซึ่งจะช่วยลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ลง  เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าไขมันทรานส์ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มไตรกลีเซอร์ไรด์ เพิ่มระดับไขมันตัวร้าย แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล ลดระดับไขมันตัวดี เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เสี่ยงต่อจอประสาทตาเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์  

 

ด้าน ดร.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรรับประทานกรดไขมันทรานส์มากกว่า 1% ประมาณ 2 กรัมต่อวันหรือไม่ควรบริโภคเป็นประจำ และควรรับประทานกรดไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 10 % หรือน้อยกว่า 18-22 กรัมต่อวัน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 7 % หรือน้อยกว่า 12-15.5 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ไขมันอิ่มตัวเป็นตัวหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยไปเพิ่มคอเลสเตอรอลโดยรวมในร่างกาย แต่ไม่ได้ไปลดไขมันดี ถือว่าไม่ร้ายเท่าไขมันทรานส์ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอาหารไขมันมาก ได้แก่ อาหารทอด ฟาสฟูดส์ ขนมอบและเบเกอรี่ รวมถึงไขมันที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน เนื้อมันแทรก มันหมู หนังไก่ สะโพกไก่ เนย ชีส และไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม เป็นต้น และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันอย่างเหมาะสม ลดที่มีไขมันอิ่มตัว ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลายในปริมาณไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำมันโดยตรงและขอให้อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ และเพิ่มการกินผักและผลไม้รสหวานน้อยหลากหลายชนิดเป็นประจำ.