ข่าวหนุน24มี.ค.นี้เหมาะเลือกตั้ง ชี้อยู่ในระยะกรอบกฎหมาย - kachon.com

หนุน24มี.ค.นี้เหมาะเลือกตั้ง ชี้อยู่ในระยะกรอบกฎหมาย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดเสวนาในหัวข้อ "เลือกตั้ง 62 ? : ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง" โดยมี น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการผู้ชำนาญการจากสถาบันพระปกเกล้า และนายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเสวนา

โดยน.ส.สิริพรรณ กล่าวว่า หากถามว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่ามี 2 แนวทางที่ตะเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ มี กับ ไม่มี ซึ่งหากมีการเลือกตั้ง วันที่ดีที่สุดคือ 24 มี.ค. โดยที่นักการเมืองก็น่าจะพอใจ เพราะจะได้มีระยะเวลาที่เตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งพ.ร.ฎ.เลือกตั้งต้องประกาศไม่เกิน 7 ก.พ.นี้ เพราะจะสอดคล้องกับระยะเวลาในการเตรียมตัวของฝ่ายการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเราจะต้องรอลุ้นว่าพ.ร.ฎ.จะประกาศเมื่อไหร่ แต่ดีที่สุดต้องไม่เกินสัปดาห์หน้า 

ส่วนเมื่อถามว่าจะมีโอกาสเลื่อนออกไปเกินกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนั้น ตนเชื่อว่าอภินิหารทางการเมืองทำได้ อภินิหารแรกคือ การใช้มาตรา 44 ซึ่งในทางกฎหมายสามารถทำได้ แต่หากมองในทางนิติศาสตร์มองว่ามาตรา 44 มีอำนาจน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เราต้องมามองการเลือกตั้ง โดยอภินิหารที่สอง คือ การแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญในเรื่องของกรอบระยะเวลา 150 วัน ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ อีกทั้งใช้ระยะเวลาไม่นานเหมือนรัฐบาลปกติที่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก แต่รัฐบาลชุดนี้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายและใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวยังเชื่อว่าปี 2562 ยังมีการเลือกตั้งอยู่ 

น.ส.สิริพรรณ  กล่าวต่อว่า การเมืองและการเลือกตั้ง เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ระเบียบว่าด้วยการหาเสียงและการเลือกตั้ง  เป็นเหมือนกับดักและหลุมพลางทางการเมือง ส่วนกฎกติกาที่ออกแบบมาทั้งหมด เมื่อมองภาพรวมแล้วตนคิดว่าจะสร้างความได้เปรียบกับพรรคที่มีอยู่แล้ว เพราะเป็นเหมือนการสร้างกติกาที่ลิดรอนในส่วนของกลุ่มผู้สมัครหน้าใหม่  แต่กลับส่งเสริมให้พรรคขนาดใหญ่และพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นสังคมน้องตั้งคำถามไปยังกกต.ว่าข้อกำหนดที่วางไว้ เป็นการเลือกตั้งที่ดีหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งที่ดีต้องเคารพประชาชน รวมไปถึงผู้ชนะการเลือกตั้งก็ต้องได้จัดตั้งรัฐบาลด้วย 

นายประจักษ์ กล่าวว่า  การเลือกตั้งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นไปตามภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องพึ่งอภินิหาร แต่หากภายในสัปดาห์นี้ยังไม่มีความชัดเจนในวันเลือกตั้ง ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว ยิ่งหากเราเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหลุดจากกรอบ 9 พ.ค.นี้ ก็จะหลุดไปยาว จนเกิดเป็นหลุมดำทางการเมือง  คือ ไม่มีไทม์เฟรม ไม่มีกฎเกณฑ์ และขอบเขตในการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน  เพราะปัจจุบันเเม้เราไม่ทราบวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่ทุกอย่างก็ยังถกเถียงบนพื้นฐานของกรอบรัฐธรรมนูญ แต่หากในอนาคตเราเลื่อนจนเลยกรอบรัฐธรรมนูญ เท่ากับเราจะตกอยู่ในหลุมดำ ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ตามหลักประชาธิปไตย อีกทั้งหากใช้มาตรา 44 เลื่อนหรือแก้ไขเลื่อนวันเลือกตั้ง จะสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า มาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับสิ่งที่พรรคการเมืองเตรียมตัว หรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจะได้ใช้สิทธิการเลือกตั้ง กลับเท่ากับศูนย์ แล้วเริ่มต้นใหม่ ซึ่งทุกอย่างกลับเท่ากับเสียเวลา เหมือนเป็นการเปิดแล้วปิดโอกาส 

อย่างไรก็ตามยิ่งมีการเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็จะอยู่ในจุดเสี่ยง โดยที่จะปฏิเสธวาทะกรรมสืบทอดอำนาจไม่ได้ เพราะขณะนี้หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลปกติแล้ว ก็ถือว่าว่าครบวาระ  ทั้งนี้การคาดเดาไม่ได้ว่าประเทศไทยจะมีวันเลือกตั้งวันไหน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในชนวนความขัดแย้ง ที่ตึงเครียดมากขึ้น โดยในความเห็นของนักวิชาการมิองว่าวิธีการแก้ปัญหาความขัดเเย้งที่ดีที่สุดคือต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง เอาความขัดแย้งเข้าสู่ระบบ เดินเกมส์ตามกรอบให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ

นายประจักษ์  กล่าวต่อว่า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือการทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม สะท้อนเสียงของประชาชน โดยที่เสียงเหล่านั้นจะต้องไม่ถูกบิดเบือน ทั้งนี้หากเสียงของประชาชนจะถูกบิดเบือนนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ บิดเบือนโดยใช้กำลัง กรณีนี้คือการใช้กำลังไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งตนมองว่าหากเกิดขึ้นจะถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงเพราะเป็นการปิดกั้นเสียงประชาชนโดยการไม่ให้ใช้สิทธิ และอีกหนึ่งช่องทางการบิดเบือนคือ การใช้มาตราการอื่นๆที่ไม่ใช่ความรุนแรง ซึ่งคล้ายกับระบบปัจจุบันที่ใช้วิธีการเปลี่ยนแบบบัตรเลือกตั้ง หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้กลไกของรัฐเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง หากมองดีๆจะถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว พรรคการเมืองเองก็จะเสียเปรียบ 

"เปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองของไทย คล้ายกับประเทศฟิจิตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร8 ปี กว่าจะมีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งคนที่ชนะการเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาลที่ผันตัวมาจากทหาร โดยประเทศไทยเองก็มีโอกาสจะมีลักษณะคล้าย "ฟิจิโมเดล" เพราะตอนนี้หากเปรียบเทียบ ไทยก็เหมือนเดินมาครึ่งทางฟิจิแล้ว โดยมีเหตุผลในการเลื่อนการเลือกตั้ง ออกไปทุกปี" นายประจักษ์   กล่าว.

ด้านนายสติธร กล่าวว่า อภินิหารทางการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีเยอะ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ และร่างระบบการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้หากเรารอลุ้นว่าอภินิหารต่อไปคือวันเลือกตั้ง ว่าจะมีการเลื่อนไปตกตรงกับวันไหน ซึ่งหากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาระบุว่าเป็นวันที่ 24 มี.ค.นี้ หากนับตามไทม์ไลน์แล้ววันที่ พ.ร.ฎ.ประกาศออกมาจะต้องเป็นสัปดาห์หน้า.