'กฤษฏา'ปั้น5เสือลุยหาชาวบ้าน หนุนทำเกษตรสมดุลกับตลาด
การเมือง
ทั้งนี้ในวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ปิดระบบรับสมัครเกษตรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแล้ว มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ 127,316 ราย จำนวน 1,083,156 ไร่ สมัครแล้ว 96,730 ราย จำนวน 815,206 ไร่ และมีเกษตรกรแจ้งความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนแล้ว 5 หมื่นราย ซี่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะไม่มีการนำสินเชื่อค้างชำระของเกษตรกรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาการกู้ยืมเงิน
“เกษตรกรได้ปลูกพืชหมุนเวียนนอกจากทำนา และมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งปรับสภาพดินให้เกิดจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนและไม่ใช้ออกซิเจน เป็นการหมุนเวียนธาตุอาหาร การสร้างตัวของเม็ดดินจากสารที่จุลินทรีย์ขับออกมา เมื่อจุลินทรีย์ตาย เศษซากของจุลินทรีย์ รวมถึงสารที่จุลินทรีย์ขับออกมา จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินและทำให้ดินร่วนซุยมากขึ้น ทั้งนี้เกษตรกรสามารถติดต่อขอคำแนะนำทุกขั้นตอนของการผลิตและราคาของผลผลิตการเกษตร ก่อนลงมือเพาะปลูกได้ที่ 5 หน่วยงานหลัก ที่เคยลงพื้นที่มาต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนทำเกษตรจากแบบเดิม ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณผลผลิตที่สมดุลกับความต้องการของตลาด”นายกฤษฏา กล่าว
ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีกำไร เฉลี่ยเมื่อหักต้นทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 4,000 บาทต่อไร่ เมื่อเทียบกับการทำนาปรัง โดยหลังจากหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรสูงสุดเพียง 600-1,000 บาทต่อไร่เท่านั้น สำหรับการรับซื้อผลผลิตนั้น ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์และภาคเอกชน ได้เปิดจุดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกรโดยตรงในทุกอำเภอที่มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ มีสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนเปิดจุดรับซื้อ 292 จุด และเอกชนอีก 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด ขณะนี้ ราคาเฉลี่ยของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้น 14.5 % อยู่ที่ 8.29 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ ลดทอนตามชั้นคุณภาพและระยะทางอย่างเป็นธรรมแก่เกษตรกร โดยกำหนดมาตรฐานในการรับซื้อเดียวกัน ซึ่งมีตารางหักความชื้นของกระทรวงพาณิชย์เป็นเกณฑ์.