ข่าว'ก.แรงงาน'หนุนพัฒนาฝีมือช่างเครื่องช่วยคนพิการ - kachon.com

'ก.แรงงาน'หนุนพัฒนาฝีมือช่างเครื่องช่วยคนพิการ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.  ที่มูลนิธิขาเทียม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังจากเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯมาประชุมสามัญประจำปี พ.ศ. 2562 และรับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ ที่ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ ว่า จากปัญหาความต้องการช่างเครื่องช่วยคนพิการเพื่อทำงานในโรงพยาบาลประจำอำเภอ และประจำจังหวัดมีจำนวนมาก ในขณะที่มูลนิธิขาเทียมฯ ไม่สามารถผลิตและพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการได้เพียงพอกับความต้องการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดโครงการฝึกอบรมช่างเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอและสามารถบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึง โดยพัฒนาทักษะฝีมือให้สามารถนำไปประกอบอาชีพปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน แรงงานที่มีทักษะเหล่านี้จะเข้าทำงานในโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชน โดยดำเนินการฝึกร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ฝึกอบรมแล้วกว่า 305 คน สามารถบริการขาเทียมให้คนพิการได้ 633 คน โดยผู้ฝึกจะได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานก่อนส่งตัวเข้าทำงานในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 เชียงใหม่ ให้การสนับสนุนการฝึกยกระดับช่างเครื่องช่วยคนพิการมาโดยตลอด เนื่องจากจำนวนคนพิการมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้พิการขาขาดระดับใต้เข่านั้นมีตอขาที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุที่ต้องถูกตัดขา เช่น อุบัติเหตุ โรคเบาหวาน เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและขีดความสามารถให้กับช่างเครื่องช่วยคนพิการ ขณะที่ปัจจุบันมูลนิธิขาเทียมฯ มีโรงงานทำขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ 90 แห่ง โดยมีช่างทำขาเทียม 180 คน สามารถผลิตขาเทียมได้ปีละ 3,000-3,500 ขา ที่ผ่านมา สามารถให้บริการขาเทียมแก่ผู้พิการขาขาดได้ราว 30,000 ขา ซึ่งยังมีผู้พิการขาขาดที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ จึงได้มีการออกหน่วยบริการทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้บริการผู้พิการขาขาดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนรายได้ของมูลนิธิขาเทียมฯ มาจากผู้มีจิตกุศล