ข่าวยันคุมค่ารักษาไม่กระทบเอกชน เชื่อไม่จ้องฟันกำไรอย่างเดียว  - kachon.com

ยันคุมค่ารักษาไม่กระทบเอกชน เชื่อไม่จ้องฟันกำไรอย่างเดียว 
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีครม.มีมติเห็นของให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ว่า คิดว่าโดยรวมแล้วส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่กำกับตามความเหมาะสม ไม่ใช่คุมตามความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งคณะทำงานที่ตั้งมาพิจารณาเรื่องนี้ก็เหมาะสมเพรามีทั้งกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนรพ.เอกชน และผู้แทนฝั่งผู้บริโภค เป็นต้น ทุกคนก็มาคุยกัน ผลกระทบต้องเกิดในทางที่ดีคือผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองที่ดี รพ.เอกชนก็ได้ในแง่ของความโปร่งใส ให้คนศรัทธา

เมื่อถามถึงมีการกังวลว่าการกำกับค่ารักษาจะทำให้มีการเอาค่าใช้จ่ายไปแฝงเพิ่มในค่ายา นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องนี้ ตรวจสอบได้ อย่าไปกลัว หากมีปัญหา เรารู้ก็ต้องเข้าไปคุม แต่ตนมองว่ารพ.เอกชนเองเป็นสถานประกอบการที่ต่างจากสถานประกอบการแบบอื่นๆ ที่จะเอาแต่กำไร เมื่อถามต่อว่าการกำกับราคาจะกระทบกับการเงิน รพ.ไม่มีเงินลงทุนต่อ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ถ้าบอกว่ากระทบก็ว่ามา คณะทำงานฯ ต้องพิจารณาร่วมกันอยู่แล้ว ว่าสมควรแค่ไหน ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับปัญหาหุ้นตกในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ทราบสัดส่วนคณะทำงานกระทรวงพาณิชย์จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดเรื่องการกำกับค่ารักษาพยาบาล แต่อยากเสนอสัดส่วนของนักวิชาการ ตัวแทนผู้ป่วย และตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายผู้บริโภคอยากเสนอว่าการกำกับค่ารักษาต้องไม่ใช่แค่การแจ้งราคาเพราะวิธีนี้ทำมาเป็น 10 ปี แต่ก็เห็นแล้วว่าค่ายารพ.เอกชนสูงกว่าของรัฐ 70-100 เท่า สิ่งที่อยากเห็นคือการกำกับโดยอ้างอิงจากฐานค่ายา ค่ารักษาในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทางรพ.เอกชนเองก็รับได้ และที่มีการวิจัยล่าสุดก็พบว่ามีกำไรอยู่ 60% ไม่ใช่ 20% อย่างที่รพ.เอกชนระบุ หรือจะใช้วิธีคิดแบบกลุ่มโรคเหมือนที่สิงคโปร์ทำก็ได้แล้วมาดูว่าจะบวกเพิ่มไปเท่าไหร่ และอีกอย่างที่หวังคือคนที่ทำประกันชีวิตเมื่อเข้ารพ.แล้วไม่ควรต้องจ่ายค่าห้องเพิ่มอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อมูลว่าคนที่เข้ารพ.เอกชนซ้ำ มีมากถึง 95% สะท้อนความพอใจในคุณภาพ และราคา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาพอใจเพราะอาจจะไปแล้วพบว่าราคาไม่เหมาะสมกับตัวเอง การคุมราคาตรงนี้อาจจะแก้ปัญหาให้คนส่วนน้อยเท่านั้น น.ส.สารี กล่าวว่า ต้องไปดูข้อมูล เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งที่เข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุขคือเรื่องค่ารักษาแพง แต่กระทรวงแก้ไม่ได้ และเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับ 2 ของมูลนิธิฯ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนส่วนน้อย ไม่ได้กระทบแค่คนที่เดินเข้ารพ.เอกชน แต่มีผลกระทบกับระบบสุขภาพของประเทศเช่นกัน เช่น รพ.เอกชน ออกจากการเป็นสถานพยาบาลในระบบบัตรทองเพราะอ้างว่าได้เงินน้อย ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเพิ่มเงินให้ ตรงนีก็กระทบงบประมาณกองทุนแล้ว นอกจากนี้ยังทำให้แพทย์สมองไหลไปอยู่รพ.เอกชน ทำให้เกิดปัญหากำลังคนในรพ.รัฐไม่เพียงพอ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาจะเห็นว่าค่ารักษาแพงไม่ใช่แค่ผลกระทบกับเงินในกระเป๋าเท่านั้น แต่มีผลกระทบกับระบบสุขภาพของประเทศ.