ข่าวสวนสัตว์วิจัยผสมเทียมช้างป่า พร้อมให้คิว'แรดขาว'ต่อ - kachon.com

สวนสัตว์วิจัยผสมเทียมช้างป่า พร้อมให้คิว'แรดขาว'ต่อ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายสุริยา รองผอ.องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงถึงความสำเร็จในการผสมเทียมช้างตัวที่ 2 ของไทย โดยนายสุริยา กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤติช้างไทย ที่ส่งผลต่อประชากรช้างให้มีจำนวนลดลง ปัจจุบันมีช้างเลี้ยงในประเทศไทยเพียง 4,719 เชือก และช้างป่า 3,500 – 4,000 ตัว ซึ่งช้างเลี้ยงที่มีอยู่ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติและเกิดลูกช้างเป็นจำนวนที่น้อยมาก อีกทั้งยังประสบปัญหาเลือดชิด โดยองค์การสวนสัตว์เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ช้างเลี้ยงให้เพิ่มมากขึ้น จึงร่วมกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ดำเนินงานโครงการวิจัย “ปัจจัยที่มีผลต่อวงรอบการสืบพันธุ์และการพัฒนาวิธีการแช่แข็งน้ำเชื้อช้างเพื่อการผสมเทียม”

นายสุริยา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว โดยทดสอบผสมเทียมในช้างเพศเมีย 4 เชือก กระทั่งได้ผสมเทียมกับ “พังจิ๋ม”มีการตรวจฮอร์โมนช่วงตกไข่ และเก็บน้ำเชื้อ “พลายบิลลี่” ใช้ทั้งน้ำเชื้อแช่แข็งและน้ำเชื้อแช่เย็น และใช้กล้องเอนโดสโคป ขนาดความยาว 1.3 เมตร สอดผ่านทางช่องคลอด และน้ำเชื้อใช้กระบอกฉีดยา ขนาด 50 มิลลิลิตร เป็นตัวฉีดน้ำเชื้อเข้าท่อผสมเทียมชนิดพิเศษที่สอดผ่าน working channel ของกล้องเอนโดสโคป ปล่อยบริเวณช่องเปิดคอมดลูกจนนำมาสู่ความสำเร็จ และพังจิ๋มได้ตกลูกช้างในวันที่ 8 ต.ค. 2561 เวลา 19.50 น. น้ำหนัก 128 กก. มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงทั้งแม่และลูก มีระยะการตั้งท้อง 21 เดือน 12 วัน และถือเป็นลูกช้างที่เกิดจากการผสมเทียมที่มีชีวิตรอด เป็นเชือกที่ 2 ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 3 ประเทศของโลกที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมช้าง คือ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี



“แผนงานวิจัยต่อยอดจะเร่งแก้ปัญหาช้างป่าให้มีจำนวนมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่ประสบปัญหาเลือดชิด ทำให้ลูกที่ออกมามีขนาดเล็กลงและสุขภาพไม่สมบูรณ์ แต่การผสมเทียมช้างป่าถือว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษารายละเอียดกันอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงมือทำ” นายสุริยากล่าว

รองผอ.องค์การสวนสัตว์ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จในครั้งนี้องค์การสวนสัตว์จะต่อยอดวิจัยไปยังสัตว์อื่นที่มีลูกยาก หรืออยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์ด้วย เช่น แรดขาว ที่อยู่ในสวนสัตว์ต่างๆมากว่า 20 ปี แต่ไม่สามารถมีลูกได้ตามธรรมชาติ กระซู่ สูญพันธุ์จากไทยแล้วแต่จะใช้ความร่วมมืองานวิจัยระหว่างประเทศกับมาเลเซียที่ยังเหลือกระซู่อยู่แต่ไม่มากแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดบทเรียนเช่นเดียวกับสมันที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตามทางองค์การสวนสัตว์ได้ผสมเทียมสัตว์จนประสบความสำเร็จมาแล้ว อาทิ สมเสร็จ, เก้งหม้อ, เลียงผา, เสือลายเมฆ เป็นต้น.