'มาร์ค'โอดระเบียบกกต.รุงรัง วอนอย่าควบคุมจนเสียบรรยากาศ
การเมือง
นอกจากนี้ สื่อมวลชนประสบปัญหาการจัดเวทีในการวิสัยทัศน์ทางการเมือง ซึ่งเราต้องการให้ผลประโยชน์ตกกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะทำอย่างไรให้มีข้อมูลมากที่สุดเกี่ยวกับพรรคต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด แต่กลายเป็นว่า สื่อมวลชนที่จะจัดเวทีเริ่มถูกเตือนในทำนองว่าถ้าไม่เชิญทุกพรรค จะมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียม ทั้งที่จริงแล้ว หลักการเสมอภาคและเท่าเทียมต้องพิจารณาจากความเป็นจริงเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยธรรมชาติของสื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดเวทีแล้วมีพรรคการเมืองมาเป็นร้อยพรรค ดังนั้นกกต.อย่าจำกัดเวทีที่สื่อมวลชนจัดให้มีการประชันวิสัยทัศน์ของพรรคการเมือง เพราะสื่อมวลชนใช้ดุลพินิจตามหลักวิชาชีพของเขาอยู่แล้ว ในการเชิญทุกฝ่ายที่คิดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการทำงานระดับชาติหลังการเลือกตั้ง
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อยากให้ กกต.ชัดเจนในการปฏิบัติ โดยในส่วนของพรรค ได้ดูกฎระเบียบเรียบร้อยแล้ว และจะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่คิดว่ามีอยู่หนึ่งปัญหา คือ การหาเสียงทางช่องทางดังกล่าว จะต้องแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง จำนวนชิ้นที่ผลิต วันที่ที่ผลิต ไว้ทางด้านหน้าอย่างชัดเจน เรายินดีที่จะทำตามนี้ได้ แต่ตนคิดว่าการแจ้งรายละเอียดเหล่านี้ค่อนข้างรุงรัง และเป็นความยุ่งยากเกินความจำเป็น ตนจึงอยากให้อยู่กับความเป็นจริง นอกจากนี้อยากขอความชัดเจนในการควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะทางพรรคก็ควบคุมได้เพียงส่วนหนึ่ง เช่น การมีเพจเฟซบุ๊ก เรารับผิดชอบในข้อความที่เราเอาขึ้นเองได้ แต่ถ้าจะให้รับผิดชอบทุกความเห็นที่มีคนพิมพ์เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย
“ส่วนตัวผมจะไม่ปิดเพจของตัวเอง เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถ้าจะกรุณาควรกำหนดให้ชัดว่าความรับผิดชอบเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะกกต.สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ภายในครึ่งวัน ไม่จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองทำหนังสือถามอย่างเป็นทางการ เพราะกกต.มีเวลาถึง 30 วันในการตอบกลับ ซึ่งจะไม่ทันเวลาในการหาเสียง”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าข้อปฏิบัติที่ไม่ชัดเจนจะทำให้มีผู้กระทำผิดกฎหมายมากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนไม่อยากให้เกิดขึ้น คือควบคุมอะไรเสียจนทำให้บรรยากาศที่จะทำให้คนสนใจการเลือกตั้งได้รับข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางถูกทำลายไป เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากจำกัดการสื่อสาร การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นผลเสียกับกระบวนการเลือกตั้งโดยตรง และเมื่อมีการออกระเบียบอะไรที่ปฏิบัติยาก เพราะหลายครั้งในอดีตที่ตนสังเกตเห็น คนที่พยายามปฏิบัติก็จะเสียเปรียบ จะมีคนจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่ปฏิบัติ เพราะข้อบังคับปฏิบัติยาก ที่สุดอาจจะมีผู้ไม่ปฏิบัติมากกว่า สุดท้าย กกต.หรือผู้มีอำนาจจะบอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่ต้องปฏิบัติ กลายเป็นว่าคนที่พยายามทำตามระเบียบจะเสียเปรียบและมีภาระ ดังนั้นอะไรที่สามารถทำความชัดเจนได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงการคัดผู้สมัครส.ส.ของพรรค ว่า ผู้สมัครส.ส.ระบบเขตขณะนี้ยังขาด 7 คน ซึ่งคาดว่าการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงบ่ายวันที่ 28 ม.ค.นี้ จะอนุมัติส่วนนี้ได้ครบ รวมถึงผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คนด้วย จากนั้น ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ พรรคจะเชิญว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรค ทั้ง 500 คน เพื่อปฐมนิเทศและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและข้อปฏิบัติต่างๆ ส่วนรายชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรียังไม่มีการพิจารณา เพราะตามข้อบังคับพรรคต้องมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับอดีตส.ส. ซึ่งตนตั้งใจว่าจะพิจารณาและอนุมัติในวันที่ 31 ม.ค.เช่นกัน.