ข่าวสรุปแผนแก้ฝุ่นพิษ ให้ผู้ว่าฯกทม.ปิดเขตฝุ่นเกิน75มคก. - kachon.com

สรุปแผนแก้ฝุ่นพิษ ให้ผู้ว่าฯกทม.ปิดเขตฝุ่นเกิน75มคก.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมมลพิษ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ หากปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกิน 75-100 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 28/1 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหากสถานการณ์ฝุ่นละอองมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขผลกระทบจากฝุ่นPM/2.5 เป็นการเฉพาะ ก่อนจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้อำนาจหรือข้อสั่งการเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ลดลงและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

นายประลอง กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์แก้ปัญหา PM2.5 และจากการประชุมในครั้งนี้ ได้มีข้อเสนอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือแม้แต่ คพ.เอง ให้ส่งแผนดำเนินการแก้ไขปัญหาหากฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 75-100 มคก./ลบ.ม. เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะต้องดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร โดยกำชับให้หน่วยงานเร่งส่งแผนโดยเร็ว อย่างไรก็ตามกทม.มี 50 เขต ซึ่งค่าฝุ่นไม่ได้เกินมาตรฐานในทุกเขต การควบคุมประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ซึ่งสามารถสั่งยุติกิจกรรมที่ก่อมลพิษเป็นดุลยพินิจของผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งให้มีการระดมสรรพกำลังจากเขตอื่นๆ มาร่วมแก้ปัญหาด้วย

อธิบดี คพ. กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ ในการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM/2.5 ในระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้

ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอดีตอธิบดี คพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากหลายฝ่ายให้ปรับแก้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เท่ากับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ คือ 50 มคก./ลบ.ม. ในอนาคตไทยมีโอกาสปรับค่ามาตรฐานได้หากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ การจราจรคล่องตัว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำมันให้เข้ามาตรฐานยูโร 5-6 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปรับค่ามาตรฐานในสารมลพิษหลายตัวมาแล้ว ซึ่งต้องดูความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ซึ่งให้อำนาจ รมว.ทรัพยากรฯ กำหนดค่ามาตรฐานโดยคำนึงถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยีควบคู่กันไป

นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่ามาตรฐานแนะนำ PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นมีอยู่ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับเป้าหมายที่ 1 คือไม่เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ระดับเป้าหมายที่ 2 จะเข้มข้นมากขึ้นเป็น 50 มคก./ลบ.ม. และระดับเป้าหมายที่ 3 อยู่ที่ 35 มคก./ ลบ.ม. จากนั้นจะเข้าสู่คำแนะนำเข้มข้นทีสุดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม. โดยค่าเกณฑ์ขึ้นกับแต่ละประเทศจะเลือกใช้เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง

“แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้ค่าฝุ่นราย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายนี้อย่างแท้จริง โดยค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 35 มคก./ลบ.ม. ขณะที่สหภาพยุโรป ค่าฝุ่นละอองรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก ตั้งไว้อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งก็ยังไม่มีประเทศใดในโลกสามารถทำตามเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกได้” นายสุพัฒน์ กล่าว

นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำหนดค่าฝุ่นละอองรายปี อยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. อยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2 ซึ่งปี 2561 ที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26-27 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเกือบทำตามเป้าหมายได้ ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มในอนาคตค่าฝุ่นละอองจะดีขึ้นในระยะยาว สำหรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 75 มคก./ลบ.ม. ถือว่ายังไม่รุนแรงหากเทียบกับปีที่ผ่านมาที่สูงถึง 130 มคก./ลบ.ม.โดยจากนี้มาตรการควบคุมจะช่วยให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินจริง จนประชาชนแตกตื่น จะมีมาตรการอย่างไร นายสุพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินทางกฎหมายกับเพจที่เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน.