ข่าวชี้ผู้สมัครต้องแจ้งทุกแอคเคาท์โซเชียลต่อกกต. - kachon.com

ชี้ผู้สมัครต้องแจ้งทุกแอคเคาท์โซเชียลต่อกกต.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ กล่าวถึงกรณีกกต.กำหนดให้ใช้หลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ( 2559-2561) เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส.นั้น ว่า กกต.ได้พูดคุยกันแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมายซึ่งเรามีข้อกังวล แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร กกต.จึงมีมติว่าหลักฐานภาษีที่จะต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559 ,2560 และ 2561 ซึ่งการเสียภาษีของปี 2561 ทางกรมสรรพากรให้เสียภาษีได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 2562 ดังนั้นผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว รวมทั้งขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมาใช้ในการยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนคนที่อาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครรับเลือกตั้งกับกกต. แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรเพิ่มเติมในภายหลัง อย่างไรก็ตามการเสนอให้กกต.ผ่อนผันเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวถึง การหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ว่า ขณะนี้ใครที่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ ก็ไม่ต้องลบแอคเคาท์ โดยสามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัครแต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ระเบียบกกต.ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอคเคาท์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อใช้ตรวจสอบการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียง อย่างไรก็ตามยืนยันว่ากกต.ให้อิสระเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐานด้วย ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายการหาเสียงในโซเชียลมีเดียนั้นตอนนี้กกต.ได้ประสานกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทุกช่องทางซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ไปหารือกับผู้บริหารกูเกิ้ลเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครพรรคการเมืองตำหนิกกต.ล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงว่า กกต.กำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครจึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย และจำนวนผู้ช่วยหาเสียง เช่นกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 10 ของจำนวนเขตที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าถึงการจัดทำบัตรเลือกตั้ง ว่า ในส่วนนี้มีการจัดงบประมาณสำหรับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ในเว็ปไซด์ของกกต. แต่ยังไม่มีการทำสัญญจัดจ้าง เพราะการดำเนินการจะต้องเริ่มเมื่อปิดรับสมัคร ซึ่งจะรู้จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต เลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบของบัตรจะมีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อและโลโก้พรรค เนื่องจากอยู่ในระเบียบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนบัตรในแต่ละเขตจะมีกี่หมายเลขยังไม่สามารถตอบได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามจำนวนพรรคที่ส่งสมัครในเขตนั้นๆ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมืองในระบบจำนวน 105 พรรค แต่ถึงเวลาปิดรับสมัครจะมีกี่พรรคไม่สามารถตอบได้.