ข่าวม็อบต้านเขื่อนวังหีบจ่อบุกทำเนียบจี้ล้มโครงการ - kachon.com

ม็อบต้านเขื่อนวังหีบจ่อบุกทำเนียบจี้ล้มโครงการ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง ปักหลักชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าสู่วันที่ 3 พร้อมเฟซบุ๊กไลฟ์ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ 4 โครงการประกอบด้วย โครงการเขื่อนคลองสังข์ โครงการเขื่อนวังหีบ โครงการคลองผันน้ำเมืองนคร และโครงการประตูกั้นน้ำปากประ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำรุนแรง ตำหนิหน่วยงานรัฐนั้น ว่า ตนสั่งการให้ ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ อดทนและอดกลั้นต่อทุกถ้อยคำกล่าวหา อย่าโต้ตอบด้วยความรุนแรง แต่ให้ชี้แจงตามข้อเท็จจริงและระเบียบกฎหมายในรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินโครงการให้ชาวบ้านและประชาชนทั้งประเทศเข้าใจ

นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ที่เครือข่ายระบุว่ารัฐจะเดินหน้าโครงการต่อ โดยไม่ฟังข้อท้วงติงของชาวบ้านในพื้นที่นั้น ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ดึงดันเดินหน้าต่อ เพราะเข้าใจเดือดร้อนของประชาชน ได้ให้กรมชลประทานรายละเอียดแผนงาน ผลการศึกษา และขั้นตอนต่างๆ ที่ทำไปแล้วรายงานมา ซึ่งแนวทางที่กรมชลประทานระบุถึงโคงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุง เดิมมีข้อร้องเรียนจากชาวบ้านตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน เมื่อปี 2555 ว่า ทำการเกษตรแล้วมีปัญหาน้ำเค็มรุก จึงได้กำหนดแผนป้องกัน แต่ต่อมาชาวบ้านขอให้ยกเลิก ไม่ให้มีการออกแบบโครงการใดๆ โดยระบุว่ คลองปากประไม่มีปัญหาน้ำเค็มรุกแล้ว ภาครัฐประสงค์จะลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน หากเห็นตรงกันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำโครงการใดๆ ในเวลานี้ กรมชลประทานยืนยัน จะยกเลิกประตูกั้นน้ำปากประ

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า โครงการอื่นๆ ก็เช่นกัน รัฐให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงขอให้มาร่วมกันตั้งคณะทำงานประกอบด้วยชาวบ้าน กรมชลประทาน อาจมีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมด้วย เมื่อมีความเห็นตรงกันว่า ส่วนใดของโครงการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ภาครัฐจะแก้ไข ส่วนใดที่ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ แต่เห็นตรงกันว่า สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ จะทบทวน ไม่ดื้อดึงที่จะเดินหน้าตามผลการศึกษาเดิม ส่วนที่เครือข่ายมองว่ามีมการตั้งงบประมาณสูง หากคณะทำงานร่วม เห็นว่าไม่สมควรทำโครงการขนาดใหญ่ เปลี่ยนเป็นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ งบฯ ต้องลดลงตามขนาดและปริมาณงานเช่น โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จังหวัดพัทลุง ซึ่งครม. อนุมัติงบ 2,300 ล้านบาท ถ้าตรวจสอบร่วมกันแล้วปรากฏว่า แนวทางการแก้ไขจะไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่หรือตัด ปรับ ส่วนใดออก งบประมาณจะต้องปรับลดลงแน่นอน



ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมฯ ได้พูดคุยกับเครื่อข่ายฯ แล้วโดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาทบทวนและจัดเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อทำความเข้าใจกัน โดยยืนยันว่า หากทางเครือข่ายฯ ร่วมกับภาครัฐเพื่อทบทวนโครงการและมีความเห็นตรงกันว่าแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและพัฒนาแหล่งน้ำในภาคใต้ที่เหมาะสมควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ จึงจะดำเนินการต่อไป กรมฯ ไม่ดึงดันทำโดยที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เครือข่ายฯ มีข้อกังวลนั้น กรมฯ ก็ยืนยันว่าเป็นขั้นตอนที่จะทำ หลังจากที่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมทบทวนโครงการแล้วทั้ง 4 โครงการ

ทั้งนี้ล่าสุดทางเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์ยืนยัน ให้รัฐทบทวนโครงการทั้ง 4 โครงการใหม่ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (28ม.ค.) เวลา 10.00 น. โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยกเลิกโครงการเขื่อนวังหีบ เพราะกระทบโดยตรงกับความเป็นอยู่ชาวบ้านต้องอพพย จากที่อยู่ที่ทำกิน และเพื่อปกป้องผืนป่าโบราณผืนสุดท้ายของประเทศไว้ อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนยั่งยืนกว่ามีเขื่อน อย่างไรก็ตาม นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่านครศรีธรรมราช-พัทลุง กล่าวว่า ได้รับทราบนโยบายของรมว.เกษตรฯ แล้ว ซึ่งจะได้นำมาหารือด้วย.