ข่าวคพ.แจงปมโลหะหนักในฝุ่นจิ๋วแต่ละช่วงต่างกัน - kachon.com

คพ.แจงปมโลหะหนักในฝุ่นจิ๋วแต่ละช่วงต่างกัน
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
จากกรณีที่ นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลหะหนักในฝุ่นละออง PM 2.5 ที่วัดได้ในชั้นบรรยากาศทั่ว กทม. มีประเด็นที่ 1.ผลวิจัยเป็นเวลา 1 ปี พบธาตุทางเคมีที่เป็นโลหะหนัก ซึ่งเป็นธาตุก่อมะเร็งปะปนอยู่ในอากาศระดับต้องเฝ้าระวังอยู่ถึง 3 ชนิด คือ “สารหนู” “ซีลีเนียม” และ “แคดเมียม” โดยกลุ่มธาตุพวกนี้เกิดจากการเผาไหม้ของอุตสาหกรรมและยานพาหนะ และ 2.คณะวิจัยฯ ได้เก็บค่าระดับความเข้มข้นของโลหะหนักในฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 จากสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 2 ปี พบธาตุโลหะหนักเพิ่มอีก 2 ชนิดคือ “ทังสเตน” และ “แคดเมียม” โดยธาตุ 2 ชนิดนี้พบในส่วนผสมของโลหะดิสก์เบรกยานยนต์ เพราะปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศตอนนี้ทั้งหมดมีฤทธิ์ก่อมะเร็งในร่างกายได้ หากสะสมไว้ปริมาณมากนั้น

เมื่อที่ 27 ม.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปริมาณฝุ่น รวมทั้งองค์ประกอบของฝุ่นจะมีความแตกต่างกันตามฤดูกาล และกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียง การวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่น สามารถ ใช้เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้ เช่น โปแตสเซียม เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไม้ สังกะสีเป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผามูลฝอย โซเดียมเป็นองค์ประกอบของฝุ่นละอองจากทะเล นิกเกิลเป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไหม้น้ำมัน อะลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส แคลเซียม เป็นองค์ประกอบของฝุ่นในเมืองหรือฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน และ สารหนู แคดเมียม เป็นองค์ประกอบของฝุ่นจากอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายประการ เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว อุปนิสัย เป็นต้น การพิจารณาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นที่บุคคลได้รับ ในประเด็นนี้ จึงต้องมีการพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ

นายประลอง กล่าวว่า ปัจจุบัน หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นบางชนิดเป็นค่ามาตรฐานแล้ว เช่น ตะกั่ว มีแหล่งกำเนิดหลักเป็นองค์ประกอบในน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยได้กำหนดค่ามาตรฐานของตะกั่วซึ่งเป็นองค์ประกอบของฝุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 (ค่ามาตรฐานตะกั่วในบรรยากาศ เฉลี่ย 1 เดือน ไม่เกิน 1.5 มคก./ลบ.ม.) และนอกจากนี้ คพ. มีโครงการความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯของประเทศไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การจัดทำบัญชีการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และการพัฒนานโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองสำหรับประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 2 ปี (2561-2563)

นายประลอง กล่าวว่า ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ได้กำหนดให้มีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ เช่น ซัลเฟต ไนเตรท คลอไรด์ แอมโมเนียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม แคลเซียม รวมทั้งองประกอบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 กลุ่มโลหะหนัก ได้แก่ อะลูมิเนียม สารหนู แบเรียม โบรมีน โคบอลต์ โครเมียม ทองแดง เหล็ก นิกเกิล ตะกั่ว ซีลีเนียม ซิลิกอน พลวง ไทเทเนียม เทลลูเรียม วาเนเดียม และ สังกะสี เป็นต้น สำหรับการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่ไม่สามารถดำเนินการในประเทศไทยได้ เช่น ปริมาณธาตุคาร์บอน ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน นั้น ได้รับความอนุเคราะห์จาก Asia Center for Air Pollution Reserch ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะมีการนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวในการสัมมนาครั้งที่ 3 ในเดือนเม.ย. 2562.