ข่าวป่าไม้สอบจนท.เอี่ยวรุกป่า'แก่งกรุง'สืบลับลากคอเพิ่ม - kachon.com

ป่าไม้สอบจนท.เอี่ยวรุกป่า'แก่งกรุง'สืบลับลากคอเพิ่ม
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
จากกรณีพล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาค 4 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่าเตรียมการเป็นป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.2484 ในเขตพื้นที่บริเวณป่าสันระเบิด ใกล้อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่รัฐ เกรงกลุ่มนายทุนเข้ามามีอิทธิพล ทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าดังกล่าวจริง จากร่องรอยการแผ้วถาง ตัดไม้ทำลายป่า และยึดครองเป็นพื้นที่ทำกินจำนวนหลายพันไร่ ทั้งยังมีถนนตัดผ่านเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มนายทุนในการขนย้ายไม้ผิดกฎหมายนั้น

เมื่อวันที่ 27 ม.ค.นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล รองอธิบดีและโฆษกกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายจงรัก ทรงรัตนพันธุ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (สุราษฎร์ธานี) ว่ากรณีดังกล่าว หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สฎ 6 และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้สุราษฎร์ธานี สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนภูธร จ.สุราษฎร์ธานีออกตรวจพื้นที่เพื่อขยายผลต่อเนื่องพบการบุกรุกพื้นที่ป่าเตรียมการป่าสงวน ป่าหมายเลข 92 บ้านบางเมาะ หมู่ที่ 9 ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี พบพื้นที่ถูกบุกรุก เพิ่มเติม5 แปลง และพบการลักลอบทำไม้ 1 จุด ดังนี้ 1.ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง 1 แปลง เนื้อที่ 18-3-63 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 25/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 2.ทำการตรวจยึดไม้กระยาเลยจำนวน 9 ท่อน ปริมาตร 4.51 ลบ.ม. ร้องทุกข์กล่าวโทษ คดีอาญาที่ 26/2562 ยึดทรัพย์ที่ 16/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 3. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถางจำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 50-2-65 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 27/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค.

นางอำนวยพร กล่าวอีกว่า 4. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 25-0-93 ไร่ และตรวจพบไม้กระยาเลย จำนวน 9 ท่อน 4 เหลี่ยม/ชิ้น ปริมาตร 7.56 ลบ.ม. ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 28/2562 ยึดทรัพย์ที่ 17/2562 ลงวันที่ 24 ม.ค. 5. ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง เนื้อที่ 8-0-52 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 33/2562 ลงวันที่ 25 ม.ค. 6.ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุกแผ้วถาง เนื้อที่ 1-2-32 ไร่ ทำการตรวจยึดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามคดีอาญาที่ 32/2562 ลงวันที่ 25 ม.ค.

นางอำนวยพร กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. คณะของได้ร่วมกันบินสำรวจการบุกรุกพื้นที่ป่า ต.ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี และตรวจพื้นที่ป่าถูกบุกรุก จำนวน 7 แปลง ได้สั่งการให้ชุดปฎิบัติการพิเศษสุราษฎร์ธานีและหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สฎ 6 (คลองท่าไม้แดง) สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทำการขยายผลตรวจสอบพื้นที่ทั้งอำเภอ และได้ดำเนินการออกคำสั่งให้หัวหน้าหน่วยและเจ้าหน้าที่ รวม 3 นาย ไปปฎิบัติราชการนอกพื้นที่อ. วิภาวดีแล้วเพื่อสะดวกในการสอบข้อเท็จจริงซึ่งสำนักฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าดังกล่าวข้างต้นแล้ว และจะดำเนินการเร่งรัดผลการสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว

“ที่ผ่านมากรมป่าไม้ได้ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้เร่งให้ สำนักจัดการฯ 11 สุราษฎร์ธานี ให้ไปตรวจสอบพื้นที่นี้ทั้งหมด โดยวันนี้กำลังเข้าตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมอีก 7 จุด ในเบื้องต้นพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งบุกรุกเก่าที่ได้ดำเนินคดีไปแล้ว และบุกรุกใหม่ จึงให้เจ้าหน้าที่แยกข้อมูลว่า บุกรุกเก่าตั้งแต่มติ ครม. 30 มิ.ย.2541 มีจำนวนเท่าเท่าไร หลังคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 มีการบุกรุกเพิ่มเท่าไร ทั้งนี้ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย ได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และย้ายออกจากพื้นที่แล้ว กำลังรอตัวเลขจาก สำนักจัดการฯ ที่ 11 ล่าสุดนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้ทีมพยัคฆ์ไพรลงพื้นที่ไปสืบทางลับ เพื่อหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษด้วยแล้ว” รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

ด้านนายจงรัก กล่าวว่า พื้นที่ป่าหมายเลข 92 เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการบุกรุกมานาน โดยมีชาวบ้านเข้ามาบุกรุกปลูกยางพารา เนื่องจากพื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ แก่งกรุง หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่เป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 การบังคับใช้กฎหมายในการรื้อถอนพืชผลอาสินตามกฎหมายอุทยานหรือกฎหมายป่าสงวนจึงทำไม่ได้ ต้องรอคำสั่งศาลในการดำเนินการ ซึ่งต้นยางพาราหรือพืชผลของชาวบ้านก็โตขึ้นทุกวัน เรื่องนี้จึงยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่