ข่าว'กสม.' ชงข้อเสนอแก้ร่างกม.เด็กปฐมวัย - kachon.com

'กสม.' ชงข้อเสนอแก้ร่างกม.เด็กปฐมวัย
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เปิดเผยว่า กสม.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ....ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28ธ.ค. 2561 เห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ที่ประชุม กสม. จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และตนได้ลงนามในหนังสือส่งความเห็นนี้แจ้งประธาน สนช. เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยกสม. เห็นว่าโดยทั่วไปร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับรองสิทธิในการอยู่รอดและการได้รับการพัฒนาไว้หลายประการ รวมทั้งแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้านการศึกษา (UN SDG4)

ดังนั้นการที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ (มาตรา 3) นิยาม “เด็กปฐมวัย” หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่าหกปีบริบูรณ์และให้หมายความรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา จึงน่าจะไม่สอดคล้องแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เนื่องจากร่างพ.ร.บดังกล่าว ในมาตรา 14 (6) และ (7) กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา ดังนั้นมาตรฐาน แนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ดังกล่าว ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในด้านต่าง ๆ ของเด็ก นอกจากนี้ควรจัดให้มีหลักสูตรแกนกลางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีการประเมินผลการนำไปใช้ด้วย

นายวัส กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องผลจากระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า การคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันจะส่งผลทางลบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา การเน้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ ทำให้สมองของเด็กวัยนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับวัย ทั้งยังส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวด้วย แม้ว่าร่างพ.ร.บ.นี้ (มาตรา 8) กำหนดว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย และควรมีมาตรการหรือแนวปฏิบัติอื่นที่เป็นหลักประกันว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับประถมศึกษาจะไม่ใช้การสอบแข่งขันในระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานพัฒนาดังกล่าวหรือในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา.