นายกฯสั่งกรมชลฯชะลอ4โครงการสร้างเขื่อน
การเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากคัดค้านกันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ได้ข้อยุติเสียที ทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมาโดยรวมมันช้า เพราะเขื่อนเป็นโจทย์สำคัญในการรวมน้ำ เก็บน้ำ การกระจายน้ำ ถ้าไม่มีเขื่อนก็จะควบคุมบริหารจัดการน้ำไม่ได้ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามบริหารจัดการน้ำได้ดีพอสมควร เห็นได้จาก 4-5 ปีไม่มีน้ำท่วมขนาดหนัก เมื่อมีอุทกภัยก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา
ขณะเดียวกันที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพล.ต.ต.ภัครพงษ์ พงษ์เภตรา รองผบ.ชน. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายเจกะพันธ์ พรหมมงคล แกนนำเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า จ.นครศรีธรรม - จ.พัทลุง หลังจากพูดคุยทางออกร่วมกันและได้ยุติที่จะชะลอทั้ง4 โครงการไว้ก่อน โดยมาชี้แจงกับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ โครงการผันน้ำบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช และโครงการประตูน้ำปากประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง เดินทางมาเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกทั้ง 4 โครงการ ปักหลักชุมนุมมาเป็นวันที่4ทำให้ชาวบ้านส่งเสียงดีใจอย่างมากตบมือ บางคนดีใจจนร้องไห้จะเป็นลม
โดยนายพุทธิพงษ์ ได้มอบหนังสือบันทึกข้อตกลง 6 ข้อระหว่างภาครัฐและประชาชนผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้าง กล่าวว่าให้ยุติการก่อสร้างและชะลอโครงการไว้ทั้งหมดตั้งแต่วันที่1 ก.พ.เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน ดังนั้นต้องหยุดการก่อสร้างไว้ก่อน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี มีความเป็นกังวลว่าชาวบ้านเดือดร้อน นอนไม่หลับ จึงให้หาข้อสรุปร่วมกัน อันไหนไม่มีประโยชน์ ถอยได้ยกเลิกได้ แต่ต้องมีเหตุผล ทั้งนี้ที่เห็นตรงกันในเรื่องสภาพอากาศธรรมชาติเปลี่ยนไปมาก จะต้องรองรับภัยธรรมชาติที่จะมาถึง ขอให้ช่วยไปบอกชาวบ้านในพื้นที่ รัฐบาลไม่รังแกใครแม้แต่คนเดียว ให้ไปคุยกันใหม่ ขอให้เป็นประชาชนเกี่ยวข้องโครงการคำนึงถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ลูกหลานในอนาคตไม่ว่าผลออกมาอย่างไร พี่น้องต้องมีส่วนร่วม อยากให้กลับไปพักผ่อน กลับใต้วันนี้คงไม่ทัน ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานหาที่พักเหมาะสม ซึ่งพรุ่งนี้ค่อยเดินทางกลับบ้านโดยปลอดภัย
นายเจกะพันธ์ กล่าวว่า จะถอยคนละก้าวระหว่างชาวบ้านกับกรมชลประทาน ที่ได้มาเจรจากันต่อเนื่องตั้งแต่วันที่25 ม.ค.จนมีข้อสรุปร่วมกัน เป็นข่าวดีพี่น้อง2จังหวัด ผลการหารือ นับจากนาทีนี้เป็นสัญญาประชาคม กรมชลฯ ใจกว้างพอยุติเรื่องราวที่ดำเนินการมา5ปีที่ผ่านมา คืนนี้จะเป็นคืนแรก ที่พี่น้องสองจังหวัดได้นอนหลับสนิท โดยหลังจากที่มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จนขณะนี้ได้ข้อยุติในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายมีกรมชลฯ ตัวแทนจากชาวบ้านทุกพื้นที่ และนักวิชาการที่เป็นกลาง มาร่วมกันศึกษาแนวทางการจัดการน้ำทั้งหมดของภาคใต้ เพื่อให้ข้อขัดแย้งยุติ ใน4โครงการ จึงมีเห็นความเห็นตรงกัน โดยกรมชลฯจะชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าคณะกรรมการฯ จะศึกษาเสร็จสิ้น ทั้งการเวนคืน การประมูลงานโครงการ ต้องหยุดทั้งหมด และมาร่วมกันศึกษาทางวิชาการ ทางอุตุนิยมวิทยา หลักการชลประทาน หลักภูมิสังคม ที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดไม่ทำลายระบบนิเวศ และไม่ทำร้ายประชาชน.