รับ'หมีเจ๋ง'หมีควายพลัดหลงชาวบ้านใจดีช่วยไว้
การเมือง
น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า ชาวบ้านได้ส่งมอบลูกหมีควาย อายุประมาณ 7 เดือน ให้กับกรมอุทยานฯ โดยลูกหมีควายเจ้าเจ๋งตัวนี้ได้ถูกพบบริเวณสวนมังคุดของชาวบ้าน ซึ่งคาดว่าแม่หมีตายไปแล้ว จากนั้นจึงประสานงานมายังชุดมวลชนสัมพันธ์ฯ เพื่อเข้ามาตรวจสอบและให้คำแนะนำให้เป็นไปตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จากนั้นมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยฯ ได้ประสานมายังกรมอุทยานฯ โดย กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จ.ชลบุรี และอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ได้เข้ามาดำเนินการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี และรับมอบเพื่อนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง และปรับพฤติกรรมก่อนนำกลับไปคืนสู่ป่าต่อไป โดยมีชาวบ้านและหน่วยงานราชการต่างไปเช่นตำรวจ ทหาร ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต ร่วมเป็นสักขีพยาน
น.สพ.ภัทรพล กล่าวต่อว่า นอกจากการรับมอบคืนลูกหมีควายแล้ว กรมอุทยานฯ พร้อมด้วยชุดมวลชนสัมพันธ์ที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าเชิงรุก ร่วมกับ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ยังร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสัตว์ป่าเชิงบูรณาการ ตามกลยุทธ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า ที่รับนโยบายมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ โดยพูดถึงสาเหตุการออกนอกพื้นที่ของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า กระทิง หมี ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นถิ่นอาศัยที่เปลี่ยนแปลง แหล่งน้ำแหล่งอาหารลดลง การเพิ่มขึ้นของประชากร การติดใจรสชาติของผลไม้ และการถูกรบกวนจากรถยนต์บนถนนทางหลวงเส้น 3259 โดยเฉพาะช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสของแรงสั่นสะเทือนและหูที่ดีเยี่ยม ทำให้เมื่อรถขนส่งพืชผลทางการเกษตรซึ่งมีขนาดใหญ่และก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนและเสียงรบกวน รวมถึงอุบัติเหตุ สาเหตุนี้เองที่ทำให้ช้างป่ามีการออกนอกเส้นทาง ซึ่งคาดว่า หากถนนทางอ้อมป่าสร้างเสร็จ จะเป็นการลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง รวมไปถึงกลิ่นหอมของพืชผลทางการเกษตรก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ช้างหรือสัตว์ป่าออกมาหากินนอกพืชที่ แนวทางแก้ไขปัญหาตามกลยุทธ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการลงแขกเกี่ยวข้าวก่อนช้าง หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงก่อนหรือช่วงที่ช้างป่าลงมาในพื้นที่เกษตรกรรม เช่นมังคุด ทุเรียน ลำไย ซึ่งเป็นผลิตผลที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครต่างช่วยกันเก็บเกี่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้น
“การลงพื้นที่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ร่วมตั้งวงสนทนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลของชาวบ้านเป็นไปอย่างเป็นกันเอง ซึ่งชาวบ้านเข้าใจถึงสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง การเข้าใจและพร้อมใจที่เป็นกระบอกเสียงกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ว่าช้างและสัตว์ป่าเหล่านี้ที่ออกมานอกพื้นที่นั้น เป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน หากพบเห็นปัญหาสัตว์ป่าในพื้นที่ชุมชนให้แจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าไล่ช้างเอง อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เน้นหลักการ มีอะไรให้แจ้งซึ่งมีเครือข่ายแจ้งเหตุหลายช่องทาง เช่น สายด่วน 1362 ไลน์กลุ่มเจ้าหน้าที่อาสา และผู้นำชุมชน และพร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา เช่น จัดกิจกรรมฟื้นฟูแหล่งน้ำแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ตามกลยุทธิ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าต่อไป” หัวหน้าฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่าฯ กล่าว.