ลุยส่งออกผลิตภัณฑ์การแพทย์ไทย โกยรายได้เข้าประเทศ
การเมือง
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การสร้างความร่วมมือกันในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีข้อตกลงในการส่งเสริม สนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การจำแนกประเภทของผู้เชี่ยวชาญ การรับรองหน่วยตรวจประเมินและรับรองผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ห้องปฏิบัติการเชี่ยวชาญ และประเมินหน่วยตรวจประเมินที่ได้รับการแต่งตั้งจาก อย. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำข้อกฎหมาย มาตรฐาน แนวปฏิบัติ ประกาศ หลักเกณฑ์ และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การควบคุม การกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน ฐานข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูลอื่นๆ ได้ ทั้งการรักษาพยาบาล ประกันสังคม การประกันชีวิต รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การนำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไปสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ และการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
นพ.อุดม กล่าวว่า การจัดตั้งสภาความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ความร่วมมือจากทุกภาคครั้งนี้นับเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลก ในอนาคตเป็นสำคัญ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานเหมือนในอดีต
ด้าน ดร.วรพล กล่าวว่า การจัดตั้งสภาความร่วมมือฯ นี้ จะเป้นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไทยสู่มาตรฐานโลก ซึ่งถือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสามารถผลักดันให้เป็นเมดิคัลฮับในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนเชื่อมต่อในกระบวนการพัฒนางานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์ช่วยลดการนำเข้า และสร้างรายได้ให้กับประเทศ.
////