ข่าวฝุ่นพิษเล่นงานคนกรุงป่วยพุ่ง3เท่า สยอง!ทำอายุสั้น-ตายรายวันเพิ่ม - kachon.com

ฝุ่นพิษเล่นงานคนกรุงป่วยพุ่ง3เท่า สยอง!ทำอายุสั้น-ตายรายวันเพิ่ม
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ศ.นพ.รณชัย คงสกนธิ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงข่าว ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว ว่า จากการสอบถามเครือข่ายแพทย์ใน 10 คลินิกของกทม. พบคนไข้จากฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็ก นอกจากกระทบสุขภาพแล้วปัญหาฝุ่นทำให้กับเศรษฐกิจด้วย เช่น เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน สูญเสีย 625 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าไทยยังไม่ตระหนักงบรักษาจะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าการตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ได้เป็นโรค ถึง 91 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากฝุ่นและมลพิษ ถ้าสามารถทำให้อากาศอยู่ในระดับปกติได้ ไม่มากกว่า 15 มคก./ลบ.ม. ประชาชนบริเวณนั้นจะอายุยืนขึ้น 20 เดือน
 
ด้าน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ฝุ่น PM2.5 มีกระทบสุขภาพ 3 ด้าน คือ 1.อายุขัยสั้นลง มีการศึกษาที่จีนพบว่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อปีทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี หากเทียบกับประชากรโลกพบอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.8 ปี ที่อินเดียอายุสั้นลง 6 ปี ส่วนไทยพบว่าที่จ.พะเยามีปัญหาฝุ่นควันพิษอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 5.6 ปี เป็นข้อมูลที่ไม่เคยได้ยินจากภาครัฐเลย ส่วนสาเหตุนั้นองค์การอนามัยโลกใช้ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน โรคมะเร็งปอด และโรคปอดบวมมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งทั้ง 4 นี้โรคก็ติด 5 อันดับตายสูงสุดของไทย รองจากอุบัติเหตุ เช่น การตายจากมะเร็งปอดพบมากที่ภาคเหนือตอนบน ส่วนภาคใต้ตายน้อยที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับการเผา 2.ตายรายวันเพิ่มขึ้น การศึกษาปี 2016 - 2018 พบฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. ทำให้คนเชียงใหม่มีอัตราการตายรายวันโดยไม่ทราบสาเหตุ เพิ่ม 1.6เปอร์เซ็นต์ ใน 1 สัปดาห์ เฉพาะที่ อ.เชียงดาว ตายรายวันเพิ่มขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยแอดมิด รพ.เชียงดาว โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ สัมผัสทั้งวันทั้งคืน อัตราตายเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์และ3.เจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้น ต้องมารพ.มากขึ้น
 
ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า ปัญหาคือไทยกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศต่ำกว่าองค์การอนามัยโลก เหมือนเอาใจภาครัฐ เศรษฐกิจ มากกว่าสุขภาพของประชาชน ลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ายังไม่อันตรายจนไม่ได้ป้องกันตนเอง ทั้งนี้องค์การอนามัยประกาศค่าปลอดภัยเฉลี่ยรายวัน ต้องไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. รายปี ต้องไม่เกิน 10 มคก./ลบ.ม. ซึ่งประเทศสมาชิกควรใช้ตามนี้ แต่สถานการณ์ในไทยสูงกว่า 2 เท่า โดยค่ารายวันอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. และรายปีอยู่ที่ 25 มคก./ลบ.ม. และไม่เคยปรับค่าเฉลี่ยใหม่เลย ในขณะที่ประเทศที่มีมลภาวะสูงมาก เช่นอินเดีย บังกลเทศ จีน กำหนดเป้าหมายตามลำดับ คือรายปี ต้องไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. ระยะกลาง 25 มคก./ลบ.ม. และระยะท้าย 15 มคก./ลบ.ม.
 
ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวต่อว่า และการศึกษาค่าความเข้มข้นรายปีของฝุ่น PM 2.5 ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ พบว่าการลดความเข้มข้นรายปีให้เหลือ 35, 25, 15 และ 10 มคก./ลบ.ม.จะลดการสูญเสียการตายก่อนวัยอันควรได้จาก 1.2 ล้านคน เหลือ 4 แสนคน ถ้าไทยลดค่าฝุ่นรายปีเหลือ 15 มคก./ลบ.ม. การมีชีวิตรอดจะเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ ถ้าลดเหลือ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มการมีชีวิตรอด 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยชาวพะเยาจะอายุยืนขึ้น 5.6 ปี ภาคเหนือเฉลี่ย 4-6 ปี อีสาน 2-4 ปี กทม. 2.4 ปี ภาคตะวันออก 1-3 ปี อย่างไรก็ตาม การเตือนค่าฝุ่นละอองจะต้องเป็นข้อมูลเรียลไทม์ ทั้งรายวัน ราย 1-3 ชั่วโมง เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน เช่นที่เชียงใหม่มีการติดตั้งเซนเซอร์และแจ้งค่าฝุ่นทั้งหมด 25 อำเภอ และกำลังจะขยายเป็นทุกตำบลในรพ.สต.ในเดือนก.พ.นี้
 


ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ควันสีขาวจากบุหรี่ก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่นกัน ซึ่งจากการวิจัยโดยนำรถยนต์ดีเซล เครื่องยนต์ 2,000 ซีซี สตาร์ทในโรงจอดแบบปิด ขนาด 60 ตารางเมตร นาน 30 นาที เทียบกับการจุดบุหรี่ 3 มวนทิ้งไว้ในโรงรถขนาดเดียวกันนาน 30 นาที พบว่าบุหรี่ 3มวน ก่อฝุ่น PM2.5 ที่ 591.8 มคก./ลบ.ม. ส่วนไอเสียรถยนต์อยู่ที่250.8 มคก./ลบ.ม.ทั้งนี้ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่เฉลี่ย 10.9 ล้านคน จะก่อฝุ่น PM2.5 มากแค่ไหน ส่วนของบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศมีการเก็บตัวอย่างในงานโปรโมตบุหรี่ มีผู้สูบประมาณ 59-86 คน เดินเข้าออกฮอลล์ ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตร ค่าฝุ่นสูงมากกว่า 800 มคก./ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยรายปีถึง 80เท่า แม้หลังจัดงานเสร็จค่าฝุ่นก็ยังสูง ส่วนผลการทดสอบลมหายใจคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบมีฝุ่นPM2.5 สูงถึง 151.7 มคก./ลบ.ม. และเมื่อทดสอบอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าภายในกล่องอะคริลิก พบฝุ่นเกินกว่า 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่เครื่องมือวัดได้ เมื่อปล่อยควันออกทำความสะอาดกล่องก็ยังเหลือฝุ่นสูงถึง 130 มคก./ลบ.ม.

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องรอดูว่าผลการหารือของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในวันที่ 4 ก.พ.จะเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือต้องรู้สาเหตุฝุ่นจิ๋วให้ชัดว่ามาจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร ต้องรู้ผลกระทบชัดเจน เช่น ผลกระทบเฉียบพลัน หากฝุ่นสูงมากๆ จะทำให้แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ส่วนระยะยาว ถ้าค่าเฉลี่ยรายปีสูงเกิน 30-40 จะไม่มีอาการ แต่จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง สมองเสื่อม พัฒนาการเด็ก ที่ผ่านมาไทยกำหนดค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2553 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นรัฐบาล แต่กลับไม่มีการปรับปรุง ตื่นเต้นเป็นครั้งคราว ซึ่งยืนยันว่าต้องมีการปรับค่ามาตรฐาน และจะทำอย่างไรให้ปริมาณฝุ่นไม่เกินจากค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ตนเชื่อว่ผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยไม่ได้สูบบุหรี่ต้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแน่ๆ
 
“รัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึง อย่างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายคนก็มีเป้าหมายที่อาจไม่ตรงกับสุขภาพ ตอนนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีพรรคการเมืองไหนเอาเรื่องนี้ขึ้นเป็นนโยบายว่า พีเอ็ม 2.5 ในกี่ปีจะเหลือเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ทางการแพทย์ เป้าสำคัญคือ สุขภาพของประชาชน นั่นคือผลระยะยาว แต่หากใครจะเอาผลทางธุรกิจ มันคือระยะสั้น ระยะยาวเจ๊งแน่นอน และต้องมีเว็บไซต์ทางการที่อัพเดตข้อมูลเท่าทันกับของโลก วิธีการวัดอย่างไร ได้มาตรฐานหรือไม่ จริงๆ โมเดลเชียงใหม่น่าจะดี ควรนำมาปรับใช้ด้วย” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว และว่าไทยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิน 70 ฉบับ แต่มีปัญหาบังคับใช้ ดังนั้นต้องบังคับใช้จริงจังเพื่อลดต้นกำเนิดฝุ่น PM 2.5 รวมถึงเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากผู้ประกอบการแล้วนำมาชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ อย่างที่ แดนมาร์คใช้ภาษี 8 เปอร์เซ็นต์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม.