ข่าวร้องศาลรธน.ขอยกเลิกกฎหมายเอาผิดหญิงทำแท้ง  - kachon.com

ร้องศาลรธน.ขอยกเลิกกฎหมายเอาผิดหญิงทำแท้ง 
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.พญ.พรรรพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการสนับสนุนและขับเคลื่อนการเข้าถึงเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมประมาณ 1 แสนรายต่อปี เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเพียงแค่หมื่นกว่าต่อปีเท่านั้น ที่เหลืออาจยุติการตั้งครรภ์แบบไม่ปลอดภัย หรือตั้งครรภ์ต่อทั้งที่ไม่พร้อม ทั้งนี้ การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจะทำภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับของแพทยสภา คือกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดา แต่ยังต้องพัฒนาการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายจัดบริการยุติตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีแพทย์อาสา 130 คน ทีมสหวิชาชีพอาสา 348 คน สายด่วนปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อม 1663

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องการยุติการตั้งครรภ์ ดังนั้นต้องขับเคลื่อนให้เขาเข้าถึงทางเลือกและบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ยกเลิกมาตรา 301 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่าหญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะแม้ว่าปลอดภัยแต่อาจถูกจับได้ นอกจากนี้ได้ขอให้ปรับปรุงมาตรา 305 ที่ระบุว่า หากเป็นการกระทำของแพทย์ จำเป็นต้องเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือตั้งครรภ์จากการทำผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน ให้ถือว่าไม่มีความผิดนั้น แต่ก็มีการจับแพทย์ที่ให้บริการ ซึ่งขณะนี้มีแพทย์อาสา ถูกตำรวจตั้งข้อหาแล้ว 2 คน เพราะมีการตีความเรื่องมีผลต่อสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เฉพาะทางกาย แต่ไม่รวมสุขภาพทางจิต โดยอ้างว่าข้อบังคับของแพทยสภา ที่ระบุเรื่องปัญหาสุขภาพทางจิตสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้นั้น ไม่ใช่กฎหมาย ทั้งนี้ เรื่องนี้ศาลได้รับคำร้องแล้ว

เมื่อถามถึงการช่วยเหลือแพทย์ที่ถูกดำเนินคดี พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า จะมีการประสานไปยังทางตำรวจว่า การดำเนินงานของแพทย์อาสานั้นมีการขึ้นทะเบียนกับทางกรม และมีแนวปฏิบัติในการดำเนินการชัดเจนที่เป็นมาตรฐาน และจะทำลิสต์รายชื่อแพทย์เครือข่ายที่กรมฯ รับรองในการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ตำรวจได้ตรวจสอบหรือมาพูดคุยกันก่อน.