ข่าวปภ.เผย กทม.-สมุทรสาครคุณภาพอากาศปานกลาง - kachon.com

ปภ.เผย กทม.-สมุทรสาครคุณภาพอากาศปานกลาง
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.  เวลา 05.00 น. พบว่า มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน  (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ในระดับ 50 - 100 และคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง รวม 2 จังหวัด ได้แก่ กทม. พื้นที่ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 47 มคก./ลบ.ม. และ AQI มีค่าระหว่าง 88 และที่จ.สมุทรสาคร พื้นที่ต.อ้อมน้อย อ.กระทุมแบน มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 41มคก./ลบ.ม.และ AQI มีค่าระหว่าง 63 



นายชยพล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ปภ.ยังคงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กทม.และจังหวัด 8 จังหวัด (สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี สระบุรี และสระแก้ว)โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจังหวัดดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ งดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์มิให้รุนแรงมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูงให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป



ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าเมื่อเวลา10.00น.หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว2หน่วยได้ขึ้นบินปฏิบัติการแล้ว โดยใช้หน่วยฝนหลวงจ.ระยอง และ จ.นครสวรรค์ เพื่อต่อสู้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้ได้ปฏิบัติการติดตามอย่างใกล้ชิดมาเป็นวันที่19 โดยวันนี้ช่วงเช้าได้ตรวจสภาพอากาศมาวิเคราะห์ข้อมูลวางแผนตัดสินใจ ในส่วนสถานีเรดาร์สัตหีบ พบความชื้น67% และ89% ขณะที่ค่ายกตัวของมวลอากาศช่วยเมฆพัฒนาตัวของเมฆยังเป็นบวก ซี่งหวังว่าระหว่างวันมีแสงแดดมาช่วยให้เมฆพัฒนาตัวดีขึ้น ได้ขึ้นบินจากสนามอู่ตะเภา วางแกนเมฆ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ได้บินมาก่อเมฆใกล้ กทม.ให้มากที่สุดเพราะกระแสลมค่อนข้างอ่อน หากวางแนวเมฆไกล ถ้าเมฆพัฒนาตัวเร็วจะไม่เข้ามาตกในพื้นที่เป้าหมาย โดยช่วงบ่ายจะวางแผนตัดสินใจอาจขึ้นบินโปรยสารฝนหลวงอีกรอบ



นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานีเรดาร์ตาคลี พบความชื้นระดับ 60%ขึ้นไป เอื้อต่อการก่อเมฆได้ แต่ค่ายกตัวให้เมฆเป็นแนวตั้งเป็นบวก2.8 ดังนั้นการพัฒนาตัวเป็นฝนค่อนข้างยาก จึงหวังแสงแดดระหว่างวันมาช่วยสร้างพลังงานให้เมฆ ได้ขึ้นบินโปรยสารก่อเมฆแนวอ.ไพศาลี ไปทาง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ เพื่อดูแลแก้ปัญหาฝุ่นละอองพื้นที่ภาคกลาง ในส่วนสถานีเรดาร์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 64% -82% ขณะเดียวกันค่ายกตัวของเมฆเป็นบวกมากถึง3.9 ดังนั้นเราหวังช่วงระหว่างวันโอกาสจะเอื้อมากขึ้นเมื่อมีแสงแดดมาช่วยค่ายกตัวของเมฆอาจลดลง คาดว่าช่วงบ่ายจึงขึ้นบินปฏิบัติการ วางแนวก่อเมฆ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ไปถึง อ.บางเลน จ.นครปฐม

อธิบดีกรมฝนหลวง กล่าวว่า ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ในการทำฝนหลวงได้ทำตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ทุกขั้นตอนมีการประเมินผลระหว่างวัน โดยกำหนดเป็นหลักๆขั้นตอนแรกคือการก่อกวน จะใช้สารเกลือแกง ที่เรารับประทานในบ้าน บดเป็นแป้ง โปรยในอากาศที่ระดับ 6-7พันฟุต ซึ่งปกติอนุภาคเกลือแกง เป็นสารแขวนลอยในอากาศอยู่แล้ว เมื่อมีความชื้นมากกว่า 60% จะไปจับร่วมกันเป็นกลุ่มน้ำมากขึ้นคือก้อนเมฆ และขั้นตอนสอง ใช้สารแคลเซียมคอร์ไรด์ เสริมการพัฒนาตัวเมฆให้เป็นแนวตั้ง ร่วมกับพลังจากแสงอาทิตย์ ช่วยสร้างพลังงาน พัฒนาตัวเป็นเมฆฝนให้ได้ และขั้นตอนสาม การโจมตี ใช้สารไปทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเย็นจัด สารยูเรีย หรือน้ำแข็งแห้ง โปรยใต้ฐานเมฆ ทำให้เกิดความเย็นมาก เร่งให้เกิดการควบแน่น เป็นหยดน้ำกลายเป็นฝนตกลงมาได้ในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ได้ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย ที่เขตจตุจักร พญาไท ลาดพร้าว จากที่ได้ขึ้นบินปฏิบัติการก่อกวน ก่อเมฆ ใช้เกลือแกงโปรยแนว อ. บางบ่อ สมุทรปราการ อ.บางน้ำปเรี้ยว เมื่อเวลา11.00 น.มีความเร็วลม15 กม ต่อชม. เมื่อเมฆเกิดขึ้นจะเคลื่อนตามทิศทางของลม ระหว่างทางเมฆไปร่วมกับเมฆอื่นๆดูดซับอนุภาคแขวนลอยในธรรมชาติ จากการติดตามภาพเรดาร์พบกลุ่มเมฆฝน เวลาประมาณ 16-17.00 น. จากบริเวณเราทำฝนหลวง ใช้เวลาเดินทาง5-6 ชม.จะเห็นว่าเป็นระยะทางทำฝนมาตกในเขตจตุจักร พญาไท ลาดพร้าว

“การทำงานเรายึดถือตามตำราฝนหลวงพระราชทาน หลักประเมินฝนใช้ทางวิทยาศาสตร์ จากภาพเรดาร์จับกลุ่มฝน ระยะทาง ความเร็วลม มาถึงพื้นที่เป้าหมาย”นายสุรสีห์ กล่าว.