กฤษฏา'ไล่บี้ปลัดเกษตร -อธิบดีสกัดม็อบเรือประมง
การเมือง
“ขณะนี้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯได้เร่งรัดดำเนินการโดยได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาโครงการนำเรือออกนอกระบบเป็นประจำทุกสัปดาห์อยู่แล้ว จึงขอให้ ปลัดเกษตรฯ อธิบดีกรมประมง ได้ส่งผู้แทนระดับบริหารของกระทรวงเกษตรฯและกรมประมงออกไปพบและทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ เพื่อเป็นการลดภาระชาวประมงที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและเวลาในการประกอบอาชีพเดินทางมาขออนุญาตชุมนุมสาธารณะในกทม.”นายกฤษฏา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้หลักการพิจารณานำเรือออกนอกระบบ จะพิจารณาจากความเดือดร้อนของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆของภาครัฐในการจัดการระบบประมงที่ถูกกฎหมายโดยจะได้นำข้อมูลกลุ่มเรือประมงที่ภาครัฐเคยสำรวจและจัดทำข้อมูลไว้ในปี 2558-2560 มาพิจารณาเป็นกลุ่มแรกเร่งด่วนที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยา สำหรับกลุ่มชาวประมงที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐในการนำเรือออกนอกระบบครั้งนี้ จะต้องเป็นชาวประมงเจ้าของเรือที่ไม่เคยกระทำผิดกฎหมายรวมทั้งไม่เคยใช้เรือและเครื่องมือที่ผิดกฎหมายในการประกอบอาชีพประมงมาก่อน ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ จะเเบ่งเป็นกลุ่มๆตามความเดือดร้อนระยะเวลาหยุดทำการประมง โอกาสที่จะได้รับการอนุญาตทำการประมงต่อไปรวมทั้งความสมัครใจในการประกอบอาชีพประมงต่อไปหรือไม่อย่างไรด้วย
รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ปัจจุบันคณะอนุกก.กลั่นกรองฯสามารถกำหนดกลุ่มเรือประมงเป้าหมายที่จะนำออกนอกระบบได้แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความมีอยู่จริงและประเมินมูลค่าเรือประมงของชาวประมงที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาว่ามีสภาพอย่างไรเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเรือประมงกลุ่มเป้าหมายที่จะนำออกนอกระบบต่อไปโดยจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่ชาวประมงรวมทั้งความถูกต้องโปร่งใสที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการด้วย
“คณะ อนุ กก.กลั่นกรองฯจะเร่งรัดดำเนินการรวบรวมรายละเอียดเสนอตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำสั่ง นายกรัฐมนตรี ภายในเดือน ก.พ.62 จึงขอให้ชาวประมงที่มียังมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดได้ส่งตัวเเทน มาพบหรือสอบถามรายละเอียดข้อเท็จจริงได้ที่อธิบดีกรมประมงในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ”นายกฤษฏา กล่าว
ขณะที่นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลาหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงกลุ่มขาวแดง กล่าวว่า ผู้ประกอบการเรือประมงที่ผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีนโยบายว่า จะนำเรือออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2558 จนปัจจุบันนี้ รวม 4 ปีแล้ว ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นในวันจันทร์ที่ 4 ก.พ. 62 จะส่งผู้แทนมาขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะต่อสน. นางเลิ้ง เมื่อได้รับอนุญาตจะมีผู้ประกอบการเรือ 489 ลำ ไปชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ ในช่วงบ่ายจากนั้นจะเดินทางไปหน้าทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 300 คน ในครั้งนี้จะเตรียมอาหารและที่นอนมาด้วยเพื่อมาฟังคำตอบว่า จะนำเรื่องการช่วยเหลือชาวประมงเข้าสู่การประชุมครม. ในวันอังคารที่ 5 ก.พ.หรือไม่ หากยังไม่นำเข้าสู่วาระการประชุมครม. ในสัปดาห์นี้ การชุมนุมจะยืดเยื้อแน่นอน
นายสุรเดช ยืนยันว่า จำนวนเรือที่ต้องได้รับค่าชดเชยจากภาครัฐมี 489 ลำ มูลค่า 600 ล้านบาท โดยเป็นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เรือเถื่อนหรือเป็นเรือติดคดี โดยกลุ่มเรือ 489 ลำมีเรือที่อยู่ระหว่างประเภทการใช้เครื่องมือ เปลี่ยนประเภทระหว่างเรือประมงไปบรรทุกสินค้า หรือเรือท่องเที่ยวซึ่งกรมเจ้าท่าได้ทาสีขาวแดงไว้เช่นกัน ทั้งนี้เจ้าของเรือประมงยอมรับการประเมินมูลค่าเรือตามสภาพเรือ ซึ่งคณะทำงานฯ ประเมินมาเหลือร้อยละ 50
“ที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดจึงล่าช้า ทั้งที่ควรดำเนินการเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2561 ขณะนี้ใกล้เลือกตั้งใหม่ จึงกังวลว่า หากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จากที่ตรวจสภาพเรือไปครบทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลเพื่อประเมินราคาเรียบร้อยแล้วจะต้องกลับไปนับ 1 ใหม่อีกหรือไม่ อีกทั้งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการต่อหรือเปล่า จึงประกาศเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ชาวประมงจะร่วมใจทวงสัญญาจากภาครัฐ ถ้าไม่ได้จะไม่กลับบ้าน” นายสุรเดชกล่าว.