ข่าว'กกต.'ซ้อมใหญ่รับสมัคร ส.ส.แบ่งเขตกทม. - kachon.com

'กกต.'ซ้อมใหญ่รับสมัคร ส.ส.แบ่งเขตกทม.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. เวลา 09.30 น. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพ (ไทย-ญี่ปุ่น) นางศิลปสวย ระวีแสงสรูย์ ปลัดกทม.  และน.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์  ผอ.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ กทม. ร่วมกันซักซ้อมการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเป็นการทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารสมัครและการจับสลากในขั้นตอนต่างๆ พร้อมสาธิตวิธีการจับสลาก เพื่อให้การรับสมัครในระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ภายในอาคารกีฬาเวสน์ 2 ถูกจัดแบ่งให้ด้านข้างทั้ง 2 ฝั่ง โดยเป็นโต๊ะรับสมัครเรียงตามเขตเลือกตั้ง 1-30 ฝั่งละ 15 เขตเลือกตั้ง แต่ละโต๊ะจัดวางคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ๊ก เครื่องปริ้นเตอร์ 2 เครื่อง เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับสมัคร ตลับสำหรับจับสลากโต๊ะละ 50 ชิ้น พานใส่สลาก พร้อมจัดเตรียมเก้าอี้นั่งสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้สมัคร ส่วนบริเวณโถงกลาง จัดวางเก้าอี้นั่งรองรับผู้ติดตามผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ลงทะเบียนและรับบัตรคล้องคอ เพื่อเข้ามาให้กำลังใจผู้สมัครภายในสถานที่รับสมัครได้เขตละ 1 คน ในส่วนของกองเชียร์และสื่อมวลชนจะขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์ซึ่งมีความจุรองรับ 1,500 คน 

สำหรับการซ้อมใหญ่การรับสมัครรับเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อกังวลเกี่ยวกับพรรคการเมืองนอกเหนือจาก 41 พรรค ที่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายครบถ้วนจะสามารถส่งสมัครได้หรือไม่ โดยยืนยันและทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า หากผู้สมัครมีหนังสือรับรองของหัวหน้าพรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ประจำเขตเลือกตั้งสามารถรับสมัครได้ทุกพรรค เพราะแต่ละพรรคยังมีเวลาปฏิบัติให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นยังมีการซักซ้อมการปฏิบัติหน้าที่ โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาถึงอาคารกีฬาเวสน์ตั้งแต่เวลา 05.30 น. เมื่อถึงเวลา  08.25 น. ให้ผอ.ประจำเขต ไปยืนรอขีดเส้นแดงที่สมุดลงทะเบียนในเวลา 08.30 น. ในระหว่างนั้นให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยทยอยจดรายชื่อผู้สมัครทั้งหมด เขียนชื่อพร้อมทำสลาก ในส่วนของสลากให้ทำติดหมายเลขหงายฝารอไว้ให้พร้อม จากนั้นเมื่อถึงเวลา 08.30 น.ให้แจ้งสิทธิตามกฎหมายแก่ผู้สมัครทุกคน ที่สามารถตกลงกันที่จะเรียงลำดับจับสลาก ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้พับกระดาษที่เขียนชื่อผู้สมัครใส่ตลับต่อหน้าผู้สมัคร ปิดตลับใส่พานจนครบแล้วจึงเข้าสู่การจับสลากทีละตลับโดยผอ.ประจำเขตเลือกตั้ง ในขั้นตอนนี้เน้นย้ำว่า ไม่ต้องรีบขอให้รอบคอบเขียนบันทึกลำดับหมายเลขให้ชัดเจน ป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน จากนั้นใส่หมายเลขลงในตลับ ปิดฝานำใส่พาน เรียกตามลำดับรายชื่อที่จับสลากครั้งแรก แล้วให้ผู้สมัครเข้ามาจับหมายเลขทีละคน  ลงบันทึกให้ครบแล้วให้ผู้สมัครทุกคนเซ็นชื่อรับรองการจับสลาก

ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารที่ผู้สมัคร ต้องกรอกเช่น เกิดในจังหวัดใด ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน รหัสไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร อีเมล ชื่อบิดา-มารดา สัญชาติบิดามารดา คู่สมรส สังกัดพรรคใด คุณสมบัติยืนยันตัวตน. มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตที่ลงสมัคร ติดต่อกัน 5 ปี จนถึงวันสมัคร หรือต้องย้ายเข้าก่อน 5 ก.พ. 2557 ,เกิดในจังหวัด ,เคยศึกษาในเขตเลือกตั้ง 5 ปีติดต่อกัน ปริญญาหลักสูตร 5 ปี, เคยรับราชการหรือเคยมีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ติดต่อกัน 5 ปี แต่ปัจจุบันมีชื่อในทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดอื่น. นอกจากนี้ จะต้องตรวจสอบใบรับรองแพทย์ต้องไม่เป็นโรคต้องห้าม คือ จิตฟั่นเฟือน ไม่เป็นผู้ติดสารเสพติด, หลักฐานการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ในส่วนของค่าธรรมเนียมสมัคร หมื่นบาท จะรับเป็นเงินสด แคชเชียร์เช็ค หรือตั๋วแลกเงิน เท่านั้น  ส่วนทริคเพื่อให้เป็นข่าวของผู้สมัคร เช่น นำเหรียญ หรือแบงค์ 20 มาจ่ายค่าสมัคร ก็ให้ผู้สมัครนำผู้ติดตามมาช่วยนับจนครบจำนวน.