ข่าวเตือนฝุ่นพิษฟุ้งรับ'วาเลนไทน์'13-15ก.พ. - kachon.com

เตือนฝุ่นพิษฟุ้งรับ'วาเลนไทน์'13-15ก.พ.
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2562 (นัดพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกทม.และปริมณฑล โดย มีมติเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการระยะเร่งด่วนอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดที่สุด เพื่อลดผลกระทบและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ควบคู่กับสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องฝุ่น PM2.5 ให้อยู่บนข้อเท็จจริงและไม่บิดเบือนความจริงในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษให้ชัดเจน จากการตรวจสอบพบว่า กทม. และปริมณฑลฝุ่นละออง PM2.5 สาเหตุหลักมาจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์และน้ำมันดีเซลปล่อยควันดำออกมามากกว่าร้อยละ 50 ซึงต้องเพิ่มความเข้มงวดการตั้งจุดตรวจรถยนต์วัดควันดำบริเวณจังหวัดรอยต่อบนถนนสายหลักและสายรองทุกเส้นทางที่มีรถบรรทุกและรถโดยสารมุ่งหน้าเข้า กทม.  เพื่อควบคุมรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานจากต่างจังหวัดไม่ให้เข้าสู่ กทม.ต่อเนื่องทุกวัน โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงคมนาคม ได้ปรับมาตรฐานตรวจจับควันดำใหม่เป็นมาตรฐานเดียวกันต้องไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมกำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 45 ตามที่กฎหมายกำหนด หากเกินจะถูกเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และพ่นห้ามใช้ทันที

 นายวิจารย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นเมืองใหญ่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เช่น ภูเก็ต  เชียงใหม่ ขอนแก่น  โดย กทม. ต้องติดตั้งให้ครบทั้ง 50 เขตภายในปีนี้  พร้อมทั้งมีการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันดีเซลให้มีค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 pm หรือยูโร 5 จากปัจจุบันประเทศไทยใช้น้ำที่มาตรฐานยูโร 3 และ 4 ที่มีค่ากำมะถัน 50 ppm  ซึ่งจะนำร่องใช้ทั้งหมดก่อนใน กทม.และปริมณฑลโดยเริ่มทำทันที  ด้วยการให้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลเก่าติดตั้งตัวกรองฝุ่นละอองเข้าสู่มาตรฐานใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำเสนอผลการประชุมให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและพิจารณาในการประชุม ครม. วันที่  5 ก.พ.นี้  ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าต้องเฝ้าระวังฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น 2 ช่วงเวลา คือ วันที่ 7 ก.พ. และ ระหว่างวันที่ 13 – 15 ก.พ. เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าสภาพอากาศจะปิดและลมสงบอีกครั้ง

ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรฯ  กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว ว่า บอร์ดสิ่งแวดล้อม มีมติให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษที่มีตนเป็นประธาน กลับไปทบทวนการปรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ราย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยใหม่ให้สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. และปรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รายปี ในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม. ต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุดก่อนประกาศใช้ค่าเฉลี่ยเกณฑ์ใหม่ในอนาคต โดยระบบคมนาคมขนส่งต้องเสร็จสมบูรณ์และตรวจสอบจากสถิติค่าฝุ่นละอองในช่วง 6-7 ปี ต้องลงอยู่ในระดับมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ฝุ่นละออง PM2.5 ส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว

ด้านนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดกีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ค่าฝุ่น PM2.5 เทียบกับช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง พบว่าลดลงมากกว่าช่วงปีที่ผ่านมา ดูจากตัวเลขค่าเฉลี่ยรายปีในปี 2556 พบอยู่ที่ระดับ 35 มคก./ลบ.ม.เมื่อเทียบกับปี 2561 อยู่ที่ระดับ 26 มคก./ลบ.ม. ถือว่าทิศทางค่าเฉลี่ยของไทยดีขึ้นและมีแนวโน้มเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานรายปีที่ไทยกำหนดไว้ที่ 25 มคก./ลบ.ม.  ในช่วงที่ผ่านมาที่ค่า PM2.5 สูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะคล้ายกับกทม.ถูกครอบไว้ด้วยฝาชี ส่งผลให้อากาศกดฝุ่นละอองให้ต่ำลงและสะสมตัวขึ้น เมื่ออากาศเปิดฝุ่นจะกระจายตัวสูงขึ้นจนกลับสู่ค่าปกติ ดังนั้นจึงต้องควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งในรถยนต์ดีเซลและการเผาในที่โล่ง และประชาชนต้องใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องปรับระบบการทำงานแบบทางไกลมากขึ้นโดยไม่ต้องเข้ามาในพื้นที่ กทม.  ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่แล้ว จึงอยู่ที่ประชาชนต้องร่วมมือลดฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินการตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดค่าฝุ่น PM2.5 ค่อยๆลดลงจนสู่เกณฑ์แนะนำของ WHO ที่ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองรายปี ในระดับที่ 3 อยู่ที่ระดับไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม.

ขณะที่ นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนต้องตระหนักไม่ใช่การตระหนกและต้องทำความเข้าใจในเรื่องการอ่านค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ (AQI) ในแอปพลิเคชั่นต่างๆอย่างระมัดระวัง โดยขอให้ยึดถือแอปพลิเคชั่นของ  คพ.  เป็นหลัก ซึ่ง 1.ค่า AQI เป็นค่าฝุ่นละอองภาพรวม 6 สารมลพิษ ไม่ใช่แค่ค่าฝุ่น PM2.5 เท่านั้น ทั้งนี้ หากค่า AQI มีค่าอยู่ที่ 150 ขึ้นไปจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และมีค่าอยู่ที่ 200 ขึ้นไปจะมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้น 2. ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของค่า AQI ที่ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. เมื่อเกิน 90 มคก./ลบ.ม.จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ในระดับสีแดง แต่ในเบื้องต้นประชาชนกลับเข้าใจผิดว่าค่า AQI ที่มีตัวเลขสูงเป็นค่าฝุ่น PM2.5 ทั้งหมด

“ขณะนี้กรมควบคุมโรคยังไม่พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 แบบฉับพลัน จากปกติช่วงฤดูหนาวจะพบโรคทางเดินหายใจจำนวนมากแต่ปีนี้กลับพบลดลง ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่กลับพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงเวลานี้ สำหรับ PM2.5 มักเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคภูมิแพ้และหอบหืดมากระตุ้นให้อาการกำเริบได้ง่าย ด้านโรคหัวใจและโรคมะเร็งต้องใช้ระยะสะสมในร่างกายประมาณ 20-30 ปี ถึงจะแสดงอาการ จึงขอให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีเพื่อป้องกันตนเองจากมลพิษในอากาศ” นพ.ศุภกิจ กล่าว.