'พท.-ทษช.-สร.'ยื่นสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ-แคนดิเดตนายกฯ
การเมือง
หลังจากนั้นเวลา 09.30 น. แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) ที่นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ เดินทางมายื่นสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีการส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 108 คน โดย 10 อันดันแรก ประกอบด้วยร.ท.ปรีชาพล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายฤภพ ชินวัตร, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด, นายมิตติ ติยะไพรัตน์, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล แต่ยังไม่ส่งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในวันนี้
จากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย(สร.) และตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย ได้เดินทางมายื่นสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค จำนวน 100 คน ส่วนบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น มีการเสนอชื่อคนเดียวคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
อย่างไรก็ตาม นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงสถานภาพของพรรคการเมืองทั้ง 58 พรรค ที่ดำเนินการส่งผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า หลังจากเสร็จสิ้นการรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตในวันที่ 8 ก.พ.นี้ ทาง กกต.จะมีหนังสือสอบถามไปยังทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อตรวจสอบว่าพรรคการเมืองมีสถานภาพเป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งขณะนี้หากพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ทางกกต.ก็ต้องรับไว้ทั้งหมด แต่หากตรวจสอบแล้วพรรคมีคุณสมบัติไม่ครบ ก็จะทำให้รายชื่อที่ส่งสมัครทั้งหมดเป็นโมฆะ เหมือนไม่ได้มีการสมัครเกิดขึ้น ค่าสมัครทั้งหมดก็ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนผู้ที่ส่งสมัครจะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริง เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องใหม่ เพราะการได้มาซึ่งสถานภาพของพรรคการเมือง เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องเข้ากับเงื่อนไขหลายๆ เงื่อนไข หนึ่งในนั้นคือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมดถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่วนพรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสถานภาพของความเป็นพรรคสมบูรณ์ แต่รายชื่อผู้สมัครมีปัญหาหรือคุณสมบัติไม่ครบ ก็จะพิจารณาเป็นรายชื่อ ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้สมัครรายอื่น
นายณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการเปิดรับสมัครผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครกว่า 5,831 คน ส่วนหนึ่งกกต.ได้ดำเนินการส่งข้อมูลของผู้สมัครไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยหลังจากนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรายงานผลการตรวจสอบกลับมายังกกต.ในวันที่ 9 ก.พ. ซึ่งหากพบผู้สมัครที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ทางกกต.ก็จะดำเนินการส่งข้อมูลไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาการประกาศไม่รับสมัครในวันที่ 15 ก.พ. ส่วนผู้สมัครที่มีรายชื่อตามประกาศไม่รับสมัคร ก็มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับสมัครวันแรกเมือวันที่ 4 ก.พ. พบปัญหาในช่วงเช้า เรื่องการจับสลากและเรื่องเอกสารการยื่นภาษีของผู้สมัครเพียงเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมทุกอย่างเรียบร้อยดี.