ข่าวฝนหลวงยังสแตนบายแผนสลายฝุ่นละอองในอากาศ - kachon.com

ฝนหลวงยังสแตนบายแผนสลายฝุ่นละอองในอากาศ
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่ายังมีการตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อวางแผน การปฏิบัติการฝนหลวงสลายฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (ใช้ข้อมูลสำหรับวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล) สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ (ใช้ข้อมูลสำหรับวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี และอยุธยา) และสถานีเรดาร์โพธาราม จังหวัดราชบุรี (ใช้ข้อมูลสำหรับวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือบริเวณพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และราชบุรี)

โดยผลการตรวจอากาศของ สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จ.ชลบุรี มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ (ระดับการก่อเมฆ) 72% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 34% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.9 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่มีแนวโน้มในการพัฒนาตัวของเมฆได้ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเช้าวันนี้บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง จึงขอติดตามคุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าว หากมีปริมาณค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน กรมฝนหลวงฯ จะพิจารณาวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการอีกครั้ง

สำหรับอีก 2 สถานี คือ สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และสถานีเรดาร์โพธาราม จังหวัดราชบุรี มีข้อมูลสภาพอากาศที่มีโอกาสในการพัฒนาตัวของเมฆได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ (ระดับการก่อเมฆ) 23% (ตาคลี) 44% (โพธาราม) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 26% (ตาคลี) 45% (โพธาราม) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.4 (ตาคลี) -0.4 (โพธาราม) ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องในระหว่างวันต่อไป หากมีสภาพอากาศที่เหมาะสม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ จะขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือบริเวณพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และสระบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากปริมาณค่าฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ที่ยังเกินค่ามาตรฐานอยู่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปการปล่อยควันคล้ายเมฆจำนวนมากขึ้นไปบนอากาศทางโลกออนไลน์นั้น ขอชี้แจงว่า คลิปดังกล่าวเป็นการทดลองเครื่องยนต์ของจรวดนาซ่า โดยนำไฮโดรเจนเหลวและอ็อกซิเจนเหลวมาเป็นเชื้อเพลิงในการทดลอง เมื่อเกิดการรวมตัวระหว่างของเหลวดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นไอน้ำความร้อนที่มีความหนาแน่นมาก ซึ่งเมื่อเกิดการคลายตัวออกจึงมีลักษณะคล้ายเมฆและดูเหมือนว่ามีฝนตกลงมา โดยคลิปดังกล่าวได้รับการเผยแพร่กันในช่วงวันที่ 1 เม.ย.หรือวันโกหก (April Fools Day) ที่มักจะมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเรื่องไม่จริงในโลกออนไลน ทั้งนี้ยืนยันได้ว่าสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติจากตำราฝนหลวงพระราชทานนั้นเป็นหลักวิชาการที่เชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลานี้.