ข่าววงการหมอจ่อสร้างงานวิจัยจากงานประจำลดภาระทำงานหนัก - kachon.com

วงการหมอจ่อสร้างงานวิจัยจากงานประจำลดภาระทำงานหนัก
การเมือง

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการลงนามความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) ระดับประเทศระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.กิตตินันท์ อนรรฑมณี ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) และนพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยมักมองว่าเรื่องการวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ งานวิจัยในประเทศจึงไม่ออก แต่ที่จริงแล้วนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่รอบตัว มาจากงานประจำที่ทำอยู่ ใครก็สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นใคร จะทำอย่างไรให้งานที่ทำอยู่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำงานเช้าชาม เย็นชามถ้าทำแบบนี้จะไม่เกิดการพัฒนา แล้วตัวเราเองจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้นต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง สร้างนวัตกรรมจากงานที่ทำประจำ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนงานประจำสู่งานวิจัย หรืออาร์ทูอาร์นั้นต้นกำเนินมาจากรพ.ศิริราช กว่า 15 ปี แล้ว และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด ทั้ง สสส. กระทรวงเองก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และในการลงนามความร่วมมือระหว่าง 5 ส. กับ 1 ศ. ศิริราชนั้นนับเป็นนิมิตรหมายใหม่ในการขับเคลื่อนการทำวิจัยจากงานประจำเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มาหนุนให้การทำงานประจำมีประสิทธิภาพมาขึ้น

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการเพิ่มการวิจัยเข้าไปนั้นไม่ได้ทำให้ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะรพ.ของรัฐต้องทำงานหนักมากขึ้น จากภาระงานปกติที่หนักมากอยู่แล้ว ในทางกลับกันการทำวิจัยจะช่วยให้เกิดการทำงานสะดวกขึ้น ทำงานหนักน้อยลง เกิดผลดีกับผู้รับบริการ ซึ่งที่ผ่านมารวมแล้วมีผลงานวิจัยจากงานประจำในแวดวงสาธารณสุขกว่า 3,000 เรื่อง ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ผลดีและนำสู่การขยายการปฏิบัติไปยังสถานพยาบาลต่างๆ อย่างแพร่หลาย คือ รพ.ปทุมธานี พัฒนาระบบการดูแลผู้คลอดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือดหลังคลอด จากผลงานนี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตหลังคลอดของมารดาในจังหวัดปทุมธานีเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้เทคโนยีจำนวนมาก บุคลากรจำนวนมาก และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลง

ด้าน นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การทำวิจัยจากงานประจำนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ หรือพยาบาล หรือคนเรียนจบสูงๆ เท่านั้น ทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาตัวเอง พัฒนางานที่ทำให้ได้ผลดี เดิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าที่สุด เป็นการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นคนเราต้องรู้จักมองเป็น คิดเป็น ทำเป็น สังเคราะห์เป็น และทำเพื่อสังคม วันนี้ดีใจที่จุดเริ่มต้นจากศิริราชกลายเป็นงานระดับประเทศ.